คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4575/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมและจำเลยต่างผลิตรองเท้าใช้เครื่องหมายการค้า ทามิมิโดยเปิดเผยตามแบบที่ลูกค้านอกราชอาณาจักรสั่งให้ทำมาก่อน โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จนถึงเกิดเหตุ โดยไม่มีพฤติการณ์ให้ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เช่นนี้ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนางดาวรรณ วิจิตรฉายานนท์ ได้ร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้า ทามิมิ ที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนไว้แล้วประทับลงลนรองเท้าของจำเลยเพื่อจำหน่ายแก่บุคคลทั่วไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 273 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 273 จำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับ บังคับตามมาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยต่างมิใช่เป็นผู้คิดค้นรูปรอยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าที่อ่านเป็นภาษีอังกฤษว่า “ทามิมิ” ขึ้นมาเอง โดยโจทก์ร่วมและจำเลยต่างกล่าวอ้าง มีชาวประเทศคูเวตนำแบบรองเท้าและรูปรอยเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาให้โจทก์ร่วมและจำเลยทำ ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยต่างเบิกความยันคำกันว่า ได้ผลิตรองเท้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า ทามิมิตามที่ลูกค้าประเทศคูเวตสั่งทำติดต่อกันมา 3-4 ปีแล้ว ไม่ปรากฏว่าลูกค้าผู้สั่งทำได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในต่างประเทศหรือไม่ ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยต่างฝ่ายต่างไม่มีลูกค้าที่สั่งทำรองเท้ายี่ห้อนี้มาเบิกความสนับสนุนให้เป็นที่ประจักษ์ว่าความจริงเป็นประการใด จึงไม่อาจชี้ได้ว่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่ากัน โจทก์ร่วมเองก็เบิกความว่า ไม่เคยโฆษณาสินค้าที่ทำขายรวมทั้งยี่ห้อทามิมิทางหนังสือพิมพ์หรือทางวิทยุกระจายเสียงเลย นายสมชัย เตชะไตรศร พยานโจทก์เบิกความว่า โรงงานทำรองเท้าจะผลิตรองเท้าตามที่ลูกค้าสั่งหากลูกค้าสั่งให้ประทับตราเครื่องหมายการค้า “ทามิมิ” ลงในรองเท้าก็ย่อมประทับได้ เว้นแต่จะทราบว่าชื่อยี่ห้อดังกล่าวมีผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว และว่าที่โรงงานทำรองเท้าของจำเลยนอกจากมีรองเท้ายี่ห้อทามิมิแล้ว ยังมีการทำรองเท้ายี่ห้อคาเรทตี้ยี่ห้อจูได และยี่ห้อเฮฟวี่ เฉพาะยี่ห้อคาเรทตี้ โจทก์ร่วมกำลับยื่นคำขอจะทเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ แสดงว่าจำเลยผลิตรองเท้าใช้เครื่องหมายการค้าตามที่ลูกค้าสั่งทำ สำหรับคดีนี้ นายสมชัยว่าทราบเรื่องมีการปลอมเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเมื่อเดือนสิงหาคม 2525อันเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาท เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลยรับจ้างผลิตรองเท้ายี่ห้อทามิมิมาแต่ พ.ศ. 2523 ตลอดมาจนเกิดคดีนี้พันตำรวจโทอดุลย์ พิชาดุลย์ พยานโจทก์ที่ไปยึดของกลางรายนี้เบิกความว่า ซอยโรงงานทำรองเท้าของจำเลยเป็นตึกแถว ทั้งสองฝั่งโรงงานของจำเลยเปิดโล่ง ของกลางที่ยึดมาวางไว้โดยเปิดเผยทั้งหน้าและหลังโรงงาน ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมและจำเลยต่างผลิตรองเท้าใช้เครื่องหมายการค้าทามิมิโดยเปิดเผยตามแบบที่ลูกค้านอกราชอาณาจักรสั่งให้ทำมาก่อนโจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาท จนถึงเกิดเหตุคดีนี้ โดยไม่มีพฤติการณ์ให้ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share