แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาซึ่งจำเลยให้ประโยชน์เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์และโจทก์ยอมโอนสิทธิส่วนได้เสียทั้งปวงในคดีความให้แก่จำเลยนั้น เป็นสัญญาที่แสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันหรือนัยหนึ่งเป็นสัญญาซื้อขายความกัน ย่อมเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ
เมื่อสัญญาซึ่งก่อหนี้ตกเป็นโมฆะ สัญญาขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญานั้นย่อมตกเป็นโมฆะด้วย ส่วนสัญญาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญานั้น ย่อมไม่มีผลผูกพันผู้จำนองให้ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาจำนองค้ำประกัน จำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยที่ค้างและค่าขึ้นศาลในการดำเนินคดีตามสัญญา รวม 100,020.83 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและดอกเบี้ยในยอดเงิน1,150,000 บาท ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินตามสัญญาเสร็จ
จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่แนบหลักฐานเป็นหนังสือและสัญญาเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมโจทก์ตกลงซื้อที่ดินโฉนดที่ 4922, 4923 จากกองมรดกเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ โดยหม่อมหลวงพร้อม กุญชร ณ อยุธยา ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งเป็นผู้ตกลงขายรวมกับโฉนดที่ 5664 ของหม่อมหลวงแฉล้ม ที่ดิน 2 โฉนดแรกมีเนื้อที่ 22 ไร่เศษทั้ง 3 โฉนดจะโอนขายให้โจทก์ได้เพียง 19 ไร่เศษ ส่วนอีก 2 ไร่เศษตามพินัยกรรมยกให้พระยาอาทรธุระศิลป์บิดาจำเลยที่ 2 ต้องกันไว้ให้จำเลยที่ 2 โจทก์ตกลงซื้อเป็นราคาเงิน 9,000,000 บาท แต่การจดทะเบียนโอนทำไม่ได้เพราะพินัยกรรมห้ามซื้อขายนอกจากด้วยความประสงค์แห่งรัฐบาล โจทก์ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนสภาพที่ดินจากที่อยู่อาศัยเป็นที่ทำการค้าและจำเลยที่ 1 ได้ช่วยวิ่งเต้นติดต่อกับคณะรัฐบาล โดยโจทก์จะให้ค่าตอบแทนและให้โอกาสจำเลยที่ 1ซื้อที่ดินคืน 1 ไร่ในราคาทุน ในที่สุดได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ขายที่ดินมรดกได้ แต่ยังไม่ทันได้ทำสัญญากัน หม่อมหลวงพร้อมกับหม่อมหลวงบุญเหลือผู้จัดการมรดก 2 คนลาออก ผู้จัดการมรดกที่ยังอยู่คือนายศิววงศ์กับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งใหม่ 2 นาย ได้ฟ้องขับไล่โจทก์เพราะได้พาพ่อค้าแม่ค้าเข้าไปทำการค้าขายสร้างตลาด ปลูกโรงเพิงและแผงลอยในที่ดินของกองมรดกรายนี้โดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์กลับฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับผู้จัดการมรดกขายที่ดินมรดกดังกล่าวให้โจทก์ และเรียกค่าเสียหาย 600,000 บาท ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2422/2505 ของศาลแพ่งระหว่างดำเนินคดีดังกล่าว หม่อมหลวงแฉล้มทายาทคนหนึ่งของกองมรดกทำความตกลงกับโจทก์เพราะจะขายที่ดินให้คนอื่น โจทก์เรียกค่าเสียหาย 1,000,000 บาท เพื่อทำยอมความและถอนฟ้องแย้งให้กับโจทก์จะยอมให้เงินค่าบริการแก่หม่อมหลวงแฉล้ม 1 แสนบาท แต่ยังตกลงกันไม่ได้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ สุพรรณเภสัช เข้าชื่อซื้อที่ดินกองมรดกจำเลยที่ 1 จึงได้ขอทำความตกลงกับโจทก์บ้าง โจทก์เรียกค่าเสียหายและจะให้ค่าบริการเช่นเดียวกับหม่อมหลวงแฉล้ม โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำสัญญากันไว้ตามเอกสารหมาย จ.60, 61 แต่ในที่สุดจำเลยที่ 1 จัดการไม่สำเร็จตามกำหนดเวลาในสัญญานั้น ต่อมาพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ สุพรรณเภสัช ผู้จะซื้อ เสนอขอทำยอมความกับโจทก์โดยตรง ให้โจทก์ถอนฟ้องแย้ง จะจ่ายเงินชดเชยให้โจทก์ 1,250,000 บาท โจทก์ตกลงนัดทำสัญญากันในวันที่ 3 เมษายน 2507 แต่ครั้นแล้วก็ทำสัญญากันไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 ไปอายัดที่ดินมรดกนี้ไว้อ้างว่า ถ้าโจทก์กับพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ทำสัญญากันดังกล่าว พันตำรวจโทสิทธิศักดิ์อาจไม่จ่ายเงิน 1,600,000 บาทให้จำเลยที่ 1 ตามที่ได้ตกลงกัน ทั้งนี้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์เข้ามาขอซื้อที่ดินกองมรดกในราคา 1,250,000 บาท โดยพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ ผู้จะซื้อได้ทำความตกลงกับจำเลยที่ 1 ว่าจะให้ผลประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,600,000 บาท ถ้าได้ทำสัญญาซื้อขายกันได้ แต่จำเลยที่ 1 จะต้องจัดการให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีกับผู้จัดการมรดกประนีประนอมยอมความถอนฟ้องซึ่งกันและกันก่อนกับยังมีหน้าที่อย่างอื่นอีก หากจำเลยที่ 1 จัดการเป็นผลสำเร็จจำเลยที่ 1 ยังจะได้เงินจากทางผู้จัดการมรดกผู้ขายที่ดินอีก 500,000 บาท เมื่อเป็นดังนี้ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2507 จำเลยที่ 1 กับโจทก์ จึงได้ตกลงทำหนังสือสัญญาต่างตอบแทนเอกสารหมาย จ.1 และนายวิเชียร จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินค้ำประกันสัญญาหมาย จ.1 ครั้นแล้วจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.11 แจ้งให้โจทก์ดำเนินคดีกับผู้จัดการมรดกต่อไป ซ้ำยังขอให้โจทก์ตั้งทนายร่วมอีก 1 คนและต้องเป็นผู้ที่จำเลยที่ 1 ไว้วางใจ โจทก์จึงได้ตั้งทนายที่จำเลยที่ 1 ต้องการให้เป็นทนายร่วมดำเนินคดี ต่อมา ซึ่งโจทก์ได้รวบรวมหลักฐานพยานจนเต็มความสามารถเมื่อต่อสู้คดีนั้น ก่อนสัญญาหมาย จ.1 ครบกำหนด 1 ปี จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ตกลงต่ออายุสัญญาออกไปอีก 1 ปี ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มให้โจทก์อีก 450,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยตามสัญญาหมาย จ.1 ให้โจทก์รวม 8 งวด แล้วก็ไม่ชำระอีกโจทก์ให้ทนายมีหนังสือทวงถาม จำเลยได้รับแล้วก็ไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ และการซื้อขายที่ดินก็ไม่อาจกระทำให้สำเร็จไปได้
สัญญาต่างตอบแทนลงวันที่ 9 เมษายน 2507 ระหว่างโจทก์กับนางพิมะลา กุญชร ณ อยุธยา จำเลยที่ 1 (เอกสารหมาย จ.1) มีข้อกำหนดเป็นสาระสำคัญว่า โจทก์ผู้ให้สัญญาตกลงและยินยอมโอนสิทธิและส่วนได้เสียทั้งหลายทั้งปวงในผลแห่งคดีที่โจทก์เป็นความกับผู้จัดการมรดกของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ ตามสำนวนของศาลแพ่งคดีหมายเลขดำที่ 2422/2505 ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับสัญญาโดยสิ้นเชิงและเป็นที่ตกลงกันทั้งสองฝ่ายว่า ในกรณีที่ผู้รับสัญญามีทางเจรจาประนีประนอมกับผู้จัดการมรดกฯ โดยไม่ต้องดำเนินคดีต่อไปผู้ให้สัญญาก็จะดำเนินการตามคำสั่งของผู้รับสัญญาเพื่อถอนฟ้องแย้งคดีดังกล่าวเสีย หรือหากเป็นกรณีที่ผู้รับสัญญาไม่สามารถทำความตกลงกับผู้จัดการมรดกได้ ผู้ให้สัญญาก็ตกลงและยินยอมตามคำสั่งของผู้รับสัญญาที่จะดำเนินคดีต่อไปจนถึงที่สุด โดยผู้ให้สัญญาจะเป็นคู่ความแทนผู้รับสัญญาและผู้รับสัญญามีสิทธิที่จะแต่งตั้งทนายเข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณารักษาสิทธิและผลประโยชน์ของผู้รับสัญญาได้เต็มที่ทุกอย่างทุกประการ แต่ผู้รับสัญญาจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าจ้างทนายความและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เองแต่ผู้เดียวไม่เกี่ยวกับผู้ให้สัญญา เพื่อตอบแทนที่ผู้ให้สัญญาได้ตกลงโอนสิทธิและส่วนได้เสียในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2422/2505 ให้แก่ผู้รับสัญญาดังกล่าวมา ผู้รับสัญญาตกลงและยินยอมจ่ายเงินเป็นค่าชดชยให้แก่ผู้ให้สัญญาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,150,000 บาท โดยมีกำหนดเวลาและเงื่อนไขดังได้ระบุลงไว้ในสัญญานั้น
คดีมีปัญหาว่า สัญญาต่างตอบแทนหมาย จ.1 ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์เป็นสัญญาชอบด้วยกฎหมายอันจะมีผลบังคับได้หรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์จะได้ทำสัญญาหมาย จ.1 อันเป็นมูลคดีพิพาทกันนี้ก็เนื่องจากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะกันมิให้โจทก์ทำสัญญากับพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ สุพรรณเภสัชผู้ขอซื้อที่ดินของกองมรดกเพื่อจะประนีประนอมยอมความถอนฟ้องแย้งในคดีที่โจทก์เป็นความกับผู้จัดการมรดกนั้น เพราะจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากับพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์รับเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ไว้แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 จะได้เงินค่าตอบแทนเมื่อคิดหักจากที่ต้องจ่ายให้โจทก์ตามสัญญาหมาย จ.1 แล้วยังมีเงินเหลืออยู่อีกมากซึ่งจำเลยที่ 1 จะได้รับจากพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ผู้ซื้อถึงกับจำเลยที่ 1 ไปอายัดที่ดินของกองมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนคร ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นทายาทของกองมรดกไว้ มิให้ทำการซื้อขายกันได้แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ขอถอนอายัด แต่จำเลยที่ 1 ก็ได้อาศัยสัญญาต่างตอบแทนหมาย จ.1 นี้ แจ้งให้โจทก์ดำเนินคดีกับผู้จัดการมรดกต่อไป ในเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับผลตามสัญญาที่ได้ทำกับพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ สุพรรณเภสัช ผู้ขอซื้อซึ่งย่อมทำให้การซื้อขายที่ดินของกองมรดกไม่อาจกระทำสำเร็จได้เช่นกัน การดำเนินคดีต่อไปนั้นโจทก์คงเป็นคู่ความแต่ในนามแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค่าจ้างทนายความเอง และเมื่อผลคดีถึงที่สุดประการใด ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น สัญญาหมาย จ.1 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 ให้ประโยชน์ คือ เงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ และโจทก์ยอมโอนสิทธิส่วนได้เสียทั้งปวงในคดีความนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 เท่ากับเป็นสัญญาที่แสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน หรือนัยหนึ่งเป็นสัญญาซื้อขายความกันนั่นเอง จึงเป็นสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 หามีผลบังคับกันได้ไม่ ข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของกองมรดก ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีที่โจทก์เป็นความกับผู้จัดการมรดกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีส่วนได้เสียในมูลคดีที่พิพาทกันนั้นโดยตรง เพราะจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของกองมรดก มีส่วนได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมอยู่แล้ว สัญญาหมาย จ.1ที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์อาจทำให้คดีนั้นเสร็จไปโดยการประนีประนอมยอมความได้ก็จริงอยู่ แต่ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อสัญญาที่ให้จำเลยที่ 1 สั่งให้โจทก์ดำเนินคดีต่อไปจนถึงที่สุดอีกด้วย ซึ่งเจตนาอันแท้จริงเห็นได้ว่าเพื่อที่จำเลยที่ 1 จะได้เงินจากพันตำรวจโทสิทธิศักดิ์ผู้ซื้อทรัพย์สินของกองมรดกอันเป็นทางได้ ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญยิ่งกว่า วัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญาต่างตอบแทนหมาย จ.1 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ใช่สัญญาเพื่อระงับข้อพิพาทดังที่โจทก์อ้างเมื่อสัญญาหมาย จ.1 เป็นโมฆะเสียเปล่าแล้ว สัญญาหมาย จ.2 ขยายระยะเวลาสัญญาหมาย จ.1 ซึ่งเป็นสัญญาต่อเนื่องกับสัญญาหมาย จ.1 จึงตกเป็นโมฆะไปด้วย ส่วนสัญญาหมาย จ.15 ย่อมไม่มีผลผูกพันผู้จำนองให้ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน ศาลล่างพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน