คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีก่อนโจทก์บรรยายฟ้องว่า น. ภรรยาจำเลยที่ 2ประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2526 แสดงว่าโจทก์รู้ว่า น. ถึงแก่กรรมตั้งแต่ วันที่ 7 ธันวาคม 2526 แล้วดังนั้น การที่โจทก์ในฐานะ เจ้าหนี้ของ น. เพิ่งฟ้องจำเลยที่ 2ในฐานะ ผู้จัดการมรดกของ น. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2528จึงเกินกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ว่าเจ้าของมรดกตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางปราณี เอกบุตรเจ้ามรดกผู้วายชนม์ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ได้นำเช็คมาทำสัญญาขายลดกับโจทก์รวม 3 ครั้ง จำนวน 15 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น3,232,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้วโดยได้ตกลงว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน หากโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ17.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดกับโจทก์ถึงกำหนดจ่ายเงิน ปรากฏว่าเรียกเก็บเงินไม่ได้รวมสี่ฉบับเป็นเงิน 585,000 บาท คือเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาสุรวงศ์ ลงวันที่ 6 มีนาคม 2527 สั่งจ่ายเงินจำนวน 150,000 บาทมีนางปราณี ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย เช็คของธนาคารนครหลวงไทยจำกัด สาขาเยาวราช ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2527 สั่งจ่ายเงินจำนวน35,000 บาท เช็คของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางแค ลงวันที่ 13มีนาคม 2527 สั่งจ่ายเงินจำนวน 200,000 บาท และลงวันที่ 16มีนาคม 2527 สั่งจ่ายเงินจำนวน 200,000 บาท มีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายทั้งสองฉบับหลัง โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 585,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าชำระเสร็จให้โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางปราณีร่วมรับผิดในหนี้นั้นเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 กับที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าเช็คพิพาทฉบับที่โจทก์นำมาฟ้อง เป็นเช็คที่คนร้ายได้ลักไปจากความครอบครองของนางปราณี ภรรยาของจำเลยที่ 2 ในขณะที่นางปราณีบาดเจ็บ นางปราณีไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 1และไม่ได้มอบเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 คบคิดกันโอนเช็คฉบับนั้นเพื่อฉ้อฉลนางปราณีผู้วายชนม์โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับตั้งแต่นางปราณีเจ้ามรดกถึงแก่กรรมฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 585,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่คิดถึงวันฟ้องเฉพาะดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 91,607.22 บาท ให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้สั่งจ่ายจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเมื่อคิดถึงวันฟ้องแล้วดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 26,516.39 บาท กับให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ2,000 บาท ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้เคยบรรยายฟ้องไว้ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 801/2527 ของศาลจังหวัดเพชรบุรีที่โจทก์เป็นโจทก์ฟ้องนายฉัตรชัย ตามประสิทธิ์ เป็นจำเลยที่ 1และฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนั้นเกี่ยวด้วยเรื่องผิดสัญญายืมและสัญญาค้ำประกันว่านางปราณีภรรยาของจำเลยที่ 2ประสบอุบัติเหตุถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2526 รายละเอียดปรากฏตามคำฟ้องเอกสารหมาย ล.1 จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในคดีดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ได้รู้มาตั้งแต่ก่อนคดีจะขาดอายุความแล้ว ว่านางปราณีได้ถึงแก่กรรมเพราะอุบัติเหตุตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม2526 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งอยู่ในคำฟ้องดังกล่าวของโจทก์เองเช่นนี้ โจทก์จะเถียงว่าไม่รู้ถึงการตายของนางปราณีย่อมฟังไม่ขึ้นดังนั้น การที่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้เพิ่งฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางปราณีเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2528จึงเกินกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ว่าเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม…”
พิพากษายืน.

Share