คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปแล้ว โจทก์ที่ 1ให้จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับเงินตามเช็คพิพาทเพื่อรับชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 ตามความประสงค์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินสดโดยการชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแก่โจทก์ที่ 2 ผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 314,315 และ 321 มูลหนี้จึงมีเฉพาะการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ดังนี้ เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินเลือกใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1ทำไว้ต่อโจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงผู้รับชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์ที่ 1ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทได้อีก เพราะไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 อีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน เมื่อปลายปี 2539 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ที่ 1 จำนวน 210,000 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในครอบครัวโจทก์ที่ 1 จึงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค ลงวันที่ 31มกราคม 2540 จำนวนเงิน 210,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 ครั้นถึงกำหนดโจทก์ที่ 2 เรียกเก็บเงินตามเช็ค ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาโจทก์ที่ 1 ติดตามทวงถามหนี้เงินกู้ยืมจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 23กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระเงินที่กู้ยืมจำนวน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยขอผ่อนชำระงวดแรกวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ครั้นถึงกำหนดชำระงวดแรกจำเลยที่ 1 ผิดนัดจึงตกเป็นผู้ผิดนัดทั้งหมด จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,825 บาท แก่โจทก์ที่ 1จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 14,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 216,825 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 210,000 บา นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 216,825 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 210,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และหรือจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้แก่โจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้น

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 210,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน ย่อมจะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็ค พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสองเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปแล้ว โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว โดยให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับเงินตามเช็คพิพาทเพื่อรับชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 ตามความประสงค์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ด้วยเงินสดโดยการชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแก่โจทก์ที่ 2 ผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 314, 315 และ 321 มูลหนี้คดีนี้จึงมีเฉพาะการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินได้เลือกใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้รับผิดชำระเงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงผู้รับชำระหนี้เงินกู้แทนโจทก์ที่ 1 ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทได้อีก เพราะไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 อีกต่อไป

พิพากษายืน

Share