คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3041/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 มีความเห็นว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงให้จำเลยวางหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติมพร้อมทั้งประทับตรา “ตีราคา” ไว้หลังใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า ถือได้ว่าเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรแล้ว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินราคาและค่าภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระเพิ่มและแจ้งให้จำเลยทราบ แต่จำเลยมิได้ชำระเงินให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลา กรณีของจำเลยจึงอยู่ในข่ายที่โจทก์จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรีได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มรวมจำนวน 6,837,616.74 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าที่จำเลยชำระขาด นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 4,886,826 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าที่จำเลยชำระขาดของแต่ละใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี หรือไม่ เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112, 112 ทวิ และ 112 ตรี ประกอบมาตรา 40 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ทวิ และ 19 ตรี แล้วเห็นได้ว่า การที่จะเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 112 ตรี นั้น มิได้เฉพาะ 2 กรณี คือ กรณีมิได้ชำระเงินอากรให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนดในวรรคหนึ่งแห่งมาตรา 112 ทวิ ซึ่งสืบเนื่องจากการวางประกันค่าอากรตามมาตรา 112 ประการหนึ่ง กับกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดตามมาตรา 40 หรือมาตรา 45 อีกประการหนึ่ง ข้อความในตอนแรกของมาตรา 112 ตรี มีลักษณะเชื่อมโยงกับมาตรา 112 ทวิ และมาตรา 112 จึงเห็นได้ชัดเจนว่า มาตรา 112 ตรี ตอนแรกนี้ใช้บังคับเฉพาะกรณีตามมาตรา 112 ทวิ เท่านั้น ไม่อาจนำไปใช้ในกรณีทั่วไป หรือในกรณีของพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการค้ำประกันอากรขาเข้าที่ต้องเสียสำหรับการนำของเข้าอันเกี่ยวเนื่องกับมาตรา 19 ทวิ ที่ว่าด้วยสิทธิในการจะขอคืนอากรขาเข้า ส่วนความในตอนหลังของมาตรา 112 ตรี ที่เกี่ยวกับมาตรา 40 และมาตรา 45 นั้น มาตรา 45 เป็นเรื่องของการส่งของออกนอกราชอาณาจักร สำหรับมาตรา 40 เป็นเรื่องกำหนดเงื่อนไขในการที่ผู้นำของเข้าจะนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรว่าจะต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้องและเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ผู้ประเมินราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงมีความเห็นว่า สินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.12 มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนอากร เนื่องจากจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงให้จำเลยวางหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติมสูงกว่าจำนวนค่าอากรที่จำเลยได้สำแดงไว้พร้อมทั้งประทับตรา “ตีราคา” ไว้หลังใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ากรณีนี้ถือได้ว่าเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า มีปัญหาเกี่ยวกับจำนวนค่าอากรสำหรับของที่กำลังผ่านศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 แล้ว และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินราคาและค่าภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระเพิ่ม และแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยมิได้ชำระเงินอากรให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง กรณีของจำเลยจึงอยู่ในข่ายที่โจทก์จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มให้จำเลยชำระแก่โจทก์เพิ่มจำนวน 1,950,790.74 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 6,837,616.74 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

Share