แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย แล้วจำเลยลักอาวุธปืนพกของสามีผู้เสียหายไปโดยทุจริตและจำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องโจทก์ จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าจำเลยถือวิสาสะเข้าไปในบ้านพักของผู้เสียหายเพื่อนำอาวุธปืนไปใช้เพราะเคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อนและจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปในทุ่งนา มิใช่หมู่บ้านหรือทางสาธารณะหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อีกด้วย
ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ,72,72 ทวิ เกิดจากผู้กระทำผิดมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิดจึงอยู่ที่การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการขออนุญาตมีและพาอาวุธปืนเป็นสำคัญเมื่อผู้ใดฝ่าฝืน ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดและต้องรับโทษเป็นการเฉพาะตัว เจตนาของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จึงเป็นคนละส่วน สามารถแยกออกจากเจตนากระทำความผิดฐานลักอาวุธปืนได้ชัดเจนแม้จะมีการกระทำเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ต้องเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ และความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของนางพิมพกาหรือพิมพกานต์ พรหมทา ผู้เสียหาย แล้วใช้มีดโต้งัดประตูหลังบ้าน อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์แล้วลักเอาอาวุธปืนพกขนาด .38 เครื่องหมายทะเบียน กท.39110205 จำนวน 1 กระบอก ราคา 15,100 บาท ของจ่าสิบตำรวจนรินทร์พรหมทา สามีผู้เสียหาย ซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไปโดยทุจริต และจำเลยมีอาวุธปืนพกดังกล่าวไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาติดตัวไปในหมู่บ้าน และตามถนนสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควรและโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยอาวุธปืนและมีดโต้ 1 เล่ม เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,91, 335 ริบมีดโต้ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3)(8) วรรคสาม เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ จำคุก 2 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 3 ปี6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 9 เดือน ริบมีดโต้ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่น จำคุก6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง แล้วคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า จำเลยเจตนากระทำผิดดังฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย แล้วจำเลยลักอาวุธปืนพกของสามีผู้เสียหายไปโดยทุจริต และจำเลยพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องโจทก์ จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าจำเลยถือวิสาสะเข้าไปในบ้านพักของผู้เสียหายเพื่อนำอาวุธปืนไปใช้เพราะเคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อนและจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปในทุ่งนา มิใช่หมู่บ้านหรือทางสาธารณะหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อีกด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า ผู้กระทำความผิดฐานลักอาวุธปืนจะต้องรับโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองฯ และความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ เกิดจากผู้กระทำผิดมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิดจึงอยู่ที่การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการขออนุญาตมีและพาอาวุธปืนเป็นสำคัญเมื่อผู้ใดฝ่าฝืน ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดและต้องรับโทษเป็นการเฉพาะตัว เจตนาของผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จึงเป็นคนละส่วน สามารถแยกออกจากเจตนากระทำความผิดฐานลักอาวุธปืนได้ชัดเจน แม้จะมีการกระทำเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ก็ถือว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลชั้นต้นเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ และความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จึงชอบแล้ว และเห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความก็ไม่มีเหตุอันควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลย
พิพากษายืน