แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ชำระให้บังคับทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดแทน แล้วต่างตกลงกันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อความว่า “ข้อ 1. จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ตามโจทก์ฟ้องจริง และจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย…นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน ข้อ 2. โจทก์ตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 8,570,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม…ภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความถือเป็นการชำระเสร็จสิ้น… ข้อ 3. หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 2. และยินยอมให้โจทก์บังคับคดี…” ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเนื้อความในสัญญา ข้อ 3. ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ตามสัญญา ข้อ 1. และหรือ ข้อ 2. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอบังคับในฟ้อง ข้อความในวรรคที่ว่า “ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้อง” เป็นสาระสำคัญ ส่วนข้อความต่อเนื่องที่ว่า “ดังกล่าวใน ข้อ 2.” เป็นเพียงพลความ หากถือว่ามิใช่พลความ ข้อความในวรรคนี้ทั้งหมดจะขัดแย้งจนหาสาระไม่ได้ เพราะจำนวนหนี้ตามสัญญา ข้อ 2. มิใช่จำนวนหนี้ทั้งหมดในฟ้องนั่นเอง แสดงว่า ที่ถูกต้องข้อความในวรรคนี้พึงเป็นข้อความว่า “ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 1.” ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้แก้ไขคำพิพากษาเฉพาะส่วนในข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. ในวรรคดังกล่าวตรงท้ายวรรคจาก 2 เป็น 1 ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ศาลพึงมีคำสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมว่า ข้อ 1. จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ตามโจทก์ฟ้องจริง และจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,000,000 บาท และอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 899,218.25 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน ข้อ 2. โจทก์ตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 8,570,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าทนายความ 57,872.52 บาท แก่โจทก์อีกต่างหากภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความถือเป็นการชำระหนี้เสร็จสิ้นและให้ไถ่ถอนหลักประกันโฉนดที่ดินเลขที่ 11044 และ 9496 ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด และโฉนดเลขที่ 3029 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ข้อ 3. หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวในข้อ 2 และยินยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน ข้อ 4. โจทก์และจำเลยทั้งสองยินยอมตามข้อ 1 ถึงข้อ 3 และไม่ติดใจเรียกร้องประการใดอีก
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า ขอแก้ไขข้อผิดพลาดของคำพิพากษาตามยอม ข้อ 3 บรรทัดที่ 2 จากเลข 2 เป็นเลข 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมโดยคดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง สำหรับในคดีนี้เหตุแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 7,000,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมกับทนายความ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองทรัพย์ที่จำนองประกันออกขายทอดตลาดชำระแทนแล้วต่างตกลงกันได้ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว มีข้อความว่า
“ข้อ 1. จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ตามโจทก์ฟ้องจริง และจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 7,000,000 บาท และในอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงิน 899,218.25 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
ข้อ 2. โจทก์ตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 8,570,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าเบี้ยประกันภัย และค่าทนายความ 57,872.52 บาท แก่โจทก์อีกต่างหากภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความถือเป็นการชำระเสร็จสิ้นและให้ไถ่ถอนหลักประกัน โฉนดที่ดินเลขที่ 11044 และ 9496 ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด และโฉนดเลขที่ 3029 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด
ข้อ 3. หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวในข้อ 2. และยินยอมให้โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
ข้อ 4. โจทก์และจำเลยทั้งสองยินยอมตามข้อ 1. ถึงข้อ 3. และไม่ติดใจเรียกร้องประการใดอีก”
ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเนื้อความในสัญญาข้อ 3. ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ตามสัญญาข้อ 1. และหรือ ข้อ 2. ข้างต้น โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าว ซึ่งก็คือจำนวนเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำขอบังคับในฟ้อง จะแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย ดังนั้น ข้อความในวรรคที่ว่า “ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้อง” จึงเป็นสาระสำคัญ ส่วนข้อความต่อเนื่องไปอีกที่ว่า “ดังกล่าวในข้อ 2.” เป็นเพียงพลความ ดังเห็นได้จากว่า หากถือว่ามิใช่พลความ ข้อความในวรรคนี้ทั้งหมดก็จะขัดแย้งกันเองจนหาสาระไม่ได้ เพราะจำนวนหนี้ตามสัญญาข้อ 2. มิใช่จำนวนหนี้ทั้งหมดในฟ้องนั่นเอง จึงบ่งชี้แสดงชัดว่า ที่ถูกต้องข้อความในวรรคนี้พึงเป็นข้อความว่า “ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวในข้อ 1.” ดังนี้ ที่โจทก์ขอให้แก้ไขคำพิพากษาเฉพาะส่วนในข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. ในวรรคดังกล่าวตรงท้ายวรรคจาก “2” เป็น “1” อันถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ศาลจึงพึงมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขให้ถูกต้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตโดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าเป็นการขอแก้ไขในข้อสาระสำคัญโดยเพิ่มความรับผิดของจำเลยทั้งสองให้รับผิดในส่วนของจำนวนหนี้มากขึ้นกว่าเดิม มิใช่ข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้แก้ไขคำพิพากษาในส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2551 เฉพาะในสัญญาข้อ 3. จากเดิม “หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวในข้อ 2. … ฯลฯ …” เป็นว่า “หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวในข้อ 1. … ฯลฯ …” ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ