แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยิงขณะผู้เสียหายยกมีดจะฟังจำเลยมีดนั้นขนาดใหญ่ ถ้าฟันได้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิติจำเลยยิงนัดเดียว ดังนี้ เป็นการป้องกันชีวิตจำเลยพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่าตนโดยใช้ปืนยิง ขอให้ลงโทษเฉพาะฐานพยายามฆ่าและขอให้สั่งริบปืน ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด แต่ปืนที่ไม่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานอนุญาตให้มีได้นั้น เป็นของร้ายอยู่ในตัว ผู้ใดมีไว้เป็นความผิด จึงเป็นของที่ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32
ประชุมใหญ่ ครั้ง 1/2504
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพยายามฆ่านายชิดโดยใช้ปืนยิงขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ และสั่งริบปืนของกลางด้วย
จำเลยต่อสู้ว่าป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยยิงผู้เสียหายในขณะผู้เสียหายจะฟันจำเลยด้วยมีดขอขนาดใหญ่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ปืนแก๊ปของกลางเป็นปืนไม่มีทะเบียนให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า เมื่อผู้เสียหายถือมีดขอออกมา จำเลยก็ชิงทำร้ายเสียก่อน จำเลยจะยกเหตุป้องกันตัวมาต่อสู้ไม่ได้ พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๘๐ ให้จำคุกจำเลย ๑๐ ปี ปืนของกลางใช้กระทำผิดให้ริบ
จำเลยฎีกาว่าจำเลยป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยยิงขณะผู้เสียหายยกมีดจำฟันจำเลย มีดนั้นขนาดใหญ่ ถ้าฟันได้อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จำเลยยิงนัดเดียว เป็นการป้องกันชีวิตจำเลยพอสมควรแก่เหตุไม่มีความผิด
เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้ว อาวุธปืนของกลางที่จำเลยใช้ยิงจึงมิใช่เป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำผิด แต่อาวุธปืนกระบอกนี้ไม่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน มีปัญหาว่า จะเป็นทรัพย์สินที่พึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ หรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า อาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานอนุญาตให้มีได้นั้น เป็นของร้ายอยู่ในตัว ผู้ใดมีไว้เป็นความผิด เป็นของที่ต้องริบ
แต่ในคดีนี้ ก่อนที่จำเลยถูกจับและถูกยึดอาวุธปืน มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ (ฉบับที่ ๓) (พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๔ ผ่อนให้นำอาวุธปืนที่มีไว้ไปขอรับอนุญาตได้ภายใน ๙๐ วัน แล้วไม่ต้องรับโทษ ยังไม่ทันครบกำหนด เจ้าพนักงานก็ยึดอาวุธปืนของจำเลยเสียก่อน ดังนี้ จะสั่งริบอาวุธปืนเพราะเหตุจำเลยมีไว้ยังไม่ได้