แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยรวม 8 คนฐานร่วมกันผลิตม่านเหล็กบังตาโดยลอกเลียนหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย และร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85,86,88ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อโจทก์แสดงหลักฐานว่าโจทก์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 เพียงแต่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งคุ้มครองเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมและหัตถกรรมเท่านั้น จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามที่ได้ยื่นคำขอไว้และการกระทำของจำเลยในคดีนี้ก็เป็นเรื่องของการประดิษฐ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องส่วนใหญ่แล้ว ก็มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ มีข้อแตกต่างเพียงรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งเพียงเท่านี้ยังไม่พอที่จะให้ถือว่าการกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดทางอาญาตามฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล เป็นผู้ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 5 นิติบุคคล ผลิตหรือประดิษฐ์ขึ้นดังกล่าว ส่วนจำเลยนอกนั้นเป็นกรรมการซึ่งหากจำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำความผิดตามฟ้อง ก็อาจจะเป็นผู้กระทำความผิดได้ตามมาตรา 88 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีของโจทก์จึงมีมูลความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522มาตรา 85, 86 และ 88 และริบอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตสินค้าซึ่งลอกเลียนสิทธิบัตรของโจทก์ ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กแบบยืดและพับได้ เลขที่ 261 ซึ่งออกให้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2528โดยมีข้อถือสิทธิว่า “ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กแบบยืดและพับได้ โดยออกแบบม้วนขอบใบม่านเหล็กบังตาตามความยาวด้านข้างทั้งสองข้างเป็นรูปก้นหอย ซึ่งมีทิศทางการม้วนที่ต่างกัน และขอบด้านหนึ่งจะหักเป็นมุม แผ่นใบม่านนี้จะสอดสวมเข้าด้วยกันในลักษณะสามารถยืดออกและพับได้” ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่คำขอ 1069 โดยระบุข้อถือสิทธิว่า “ขอถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งได้แก่รูปร่างลักษณะของใบม่านบังตาสำหรับประตูเหล็กยืดตามที่ปรากฏในภาพแสดงแบบผลิตภัณฑ์” โดยได้ยื่นคำขอไว้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2525 จำเลยที่ 5 ซึ่งมีจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นกรรมการได้ร่วมกันผลิตม่านเหล็กตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4เป็นกรรมการได้ร่วมกันขายผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กที่จำเลยที่ 5 ผลิตม่านเหล็กที่จำเลยทั้งแปดร่วมกันผลิตและขายเหมือนกับม่านเหล็กตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 ของโจทก์ จะมีความแตกต่างกันก็ตรงที่ว่าการม้วนขอบใบม่านของโจทก์มีการหักเป็นมุมฉากก่อนที่จะม้วนเป็นก้นหอย ส่วนของจำเลยไม่มีการหักมุมก่อนที่จะม้วนเป็นวงกลม ปลายอีกข้างหนึ่งของโจทก์ม้วนเป็นรูปก้นหอย ส่วนของจำเลยม้วนเป็นวงกลม ลอนและแบบบนใบม่านของโจทก์หยักขึ้นเป็นมุมแหลม ส่วนของจำเลยหยักขึ้นเป็นรูปโค้งมน คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดมีมูลเป็นความผิดอาญาตามฟ้องโจทก์หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์มุ่งประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดฐานร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กบังตาหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย และได้ร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กบังตาที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรเลขที่261 ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85, 86, 88และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 84, 91 เมื่อโจทก์แสดงหลักฐานว่าโจทก์แต่ผู้เดียวเท่านั้น ที่ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กแบบยืดและพับได้ปรากฏตามสิทธิบัตรเลขที่ 261 ซึ่งสิทธิบัตรการประดิษฐ์นี้ ตามมาตรา 36ของพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ผู้ทรงสิทธิบัตรเท่านั้นมีสิทธิผลิตผลิตภัณฑ์หรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร หรือขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 2 เพียงแต่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งคุ้มครองเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมและหัตถกรรมเท่านั้น จำเลยที่ 2 ยังมิได้เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามที่ได้ยื่นคำขอไว้ จึงยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 63 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว และการกระทำของจำเลยในคดีนี้ก็เป็นเรื่องของการประดิษฐ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ม่านเหล็กบังตาชนิดติดกับประตูเหล็กแบบยืดและพับได้ของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบในชั้นนี้ ส่วนใหญ่แล้วก็มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่261 ของโจทก์ มีข้อแตกต่างเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเช่นการม้วนของโจทก์มีการหักเป็นมุมฉากก่อนที่จะม้วนเป็นก้นหอย ส่วนของจำเลยไม่มีการหักมุมก่อนที่จะมีการม้วนเป็นวงกลม ปลายอีกข้างหนึ่งของโจทก์ม้วนเป็นรูปก้นหอยส่วนของจำเลยม้วนเป็นวงกลม ลอนและแบบบนใบม่านของโจทก์หยักขึ้นเป็นมุมแหลม ส่วนของจำเลยหยักขึ้นเป็นรูปโค้งมน ข้อแตกต่างปลีกย่อยเพียงเท่านี้ยังไม่พอที่จะให้ถือว่าการกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดทางอาญาตามฟ้อง จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคล เป็นผู้ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 5 นิติบุคคล ผลิตหรือประดิษฐ์ขึ้นดังกล่าวแล้ว ส่วนจำเลยนอกนั้นเป็นกรรมการซึ่งหากจำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำความผิดตามฟ้อง ก็อาจจะเป็นผู้กระทำความผิดได้ตามมาตรา 88 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีของโจทก์จึงมีมูลความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา