แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยกระทำทารุณโหดร้าย ตามที่โจทก์ร่วมฎีกา แม้จะได้ความว่าจำเลยกระทำการโดยมี ลักษณะดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม ศาลก็จะลงโทษจำเลยมิได้เพราะ เป็นเรื่องนอกเหนือไปจากที่โจทก์ฟ้องและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ ประสงค์ให้ลงโทษโจทก์ร่วมจึงฎีกาในข้อดังกล่าวไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองและชิงทรัพย์ของนายอุทัย ดีอ่อง โดยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายอุทัยถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289, 339, 340 ตรี พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 ที่แก้ไขแล้วริบของกลาง คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายจำเลยให้การว่า จำเลยฆ่าผู้ตายเพราะบันดาลโทสะ รับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและกระสุนปืนแต่ปฏิเสธข้อหาชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 20 ปีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก22 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 11 ปี ของกลางริบ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยกระทำทารุณโหดร้ายอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5) ตามที่โจทก์ร่วมฎีกาแม้จะได้ความว่าจำเลยกระทำการโดยมีลักษณะดังกล่าวหรือไม่ก็ตามศาลก็จะลงโทษจำเลยมิได้ เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือไปจากที่โจทก์ฟ้องและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ โจทก์ร่วมจึงฎีกาในข้อนี้ไม่ได้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับปัญหาที่ว่าควรกำหนดโทษจำเลยให้สูงขึ้นหรือไม่นั้นเห็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288กำหนดโทษเป็นสามสถานคือประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี การที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลย 20 ปีก่อนลดนับว่าเหมาะสมแก่โทษานุโทษของจำเลยแล้ว เพราะไม่ใช่โทษขั้นต่ำ และโจทก์ร่วมก็ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏถึงพฤติการณ์และสาเหตุว่าร้ายกาจรุนแรงมีผลกระทบถึงสาธารณชนมากน้อยเพียงใดหรือไม่
ส่วนปัญหาที่ว่าควรลดโทษให้จำเลยเพียง 1 ใน 3 หรือไม่นั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมายืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายแม้แต่พยานแวดล้อมใกล้ชิดก็ไม่ปรากฏ โจทก์คงมีแต่นางบุญส่ง รักชาติ ภรรยาผู้ตายที่สงสัยว่าคนร้ายคือจำเลย และติดตามเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและโจทก์มีปลอกกระสุนปืนของกลางที่ได้จากที่เกิดเหตุซึ่งพิสูจน์ได้ว่ายิงจากอาวุธปืนของกลางโดยอาวุธปืนของกลางก็ได้มาจากคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลย หาใช่จำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานไม่ดังนั้นคำให้การรับสารภาพของจำเลยไม่ว่าจะเป็นในชั้นสอบสวนหรือในชั้นศาล จึงเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลสำหรับคดีนี้เป็นอันมากมีเหตุบรรเทาโทษ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จึงสมควรแล้ว ไม่มีเหตุจะเปลี่ยนมาเป็นลดโทษเพียง 1 ใน 3 ดังโจทก์ร่วมฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมา นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 โดยมิได้ระบุว่าวรรคใดนั้นเห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคแรก ที่แก้ไขแล้วนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์