แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2533 ซึ่งครบ กำหนดอุทธรณ์ในวันที่ 20 สิงหาคม 2533(วันที่ 19 สิงหาคม 2533 เป็นวันอาทิตย์)จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อ วันที่ 24 สิงหาคม 2523ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องดังนี้ หากจำเลย ประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวก็จะต้อง ยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่าน คำสั่งนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 คือต้อง ยื่นภายในวันที่ 24 กันยายน 2533 แต่ปรากฏว่าจำเลยกลับยื่นคำร้องลงวันที่3 กันยายน 2533 โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตามกฎหมายไม่จำต้องกระทำ การปฏิบัติของจำเลยดังกล่าวจึงหามีผลตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จำเลยยื่นอุทธรณ์ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อ วันที่ 2 ตุลาคม 2533จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2533 ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2533 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์โดยอ้างเหตุว่า เมื่อวันที่7 สิงหาคม 2533 จำเลยได้ยื่นคำร้องขอคัดคำเบิกความพยานและคำพิพากษาเจ้าหน้าที่ศาลนัดให้มารับวันที่ 15 สิงหาคม 2533 แต่เมื่อถึงวันนัด ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ยังถ่ายเอกสารให้ไม่ได้ และหลังจากนั้นจำเลยไปติดต่อขอรับหลายครั้งก็ยังไม่ได้จนเมื่อวันที่20 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์จำเลยจึงได้รับเอกสารที่ขอคัดจึงไม่อาจทำอุทธรณ์มายื่นต่อศาลได้ทันในกำหนด ขอให้ศาลอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้
ศาลชั้นต้นสั่งว่า การยื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จะต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องล่วงเลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วให้ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ 3 กันยายน 2533 จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นและขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดระยะเวลาให้จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับเป็นคำโต้แย้งคำสั่ง สำเนาให้โจทก์ที่ขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์นั้น ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะสั่งให้ได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่19 กรกฎาคม 2533 ซึ่งครบกำหนดอุทธรณ์ในวันที่ 20 สิงหาคม 2533(วันที่ 19 สิงหาคม 2533 เป็นวันอาทิตย์) จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2533 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวอ้างว่าล่วงเลยกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วดังนี้ เห็นว่า หากจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวก็จะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 คือต้องยื่นภายในวันที่ 24 กันยายน 2533 แต่ปรากฏว่าจำเลยกลับยื่นคำร้องลงวันที่ 3กันยายน 2533 โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ แล้วต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2533 จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ แต่การที่จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นเป็นเรื่องที่ตามกฎหมายไม่จำต้องกระทำ การปฏิบัติของจำเลยดังกล่าวจึงหามีผลตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 2 ตุลาคม 2533 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วที่ศาลชั้นต้นรับเป็นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่าฎีกาของจำเลยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งหมด ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.