แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องของให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.145 จะต้องได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน โดยปกติผู้ที่จะเป็นพนักงานจะต้องเป็นข้าราชการตาม ก.ม.เว้นแต่จะมีก.ม.บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เป็นเจ้าพนักงาน จำเลยเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ในปัจจุบันเป็นเลขาธิการก็ตาม ตามตำแหน่งนี้ก็ไม่อยู่ในความหมายของ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน ม.23 ส่วนใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 ม.50 ถึง 54 บัญญัติให้สิทธิต่าง ๆ แก่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยบางประการเหมือนกับข้าราชการพลเรือนสามัญทุกประการก็ตาม แต่ก็มิได้มีบทบัญญัติใดให้ผู้ที่ทำงานโดยมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นคณะบดีคณะเศรษฐศาตร์จำเลยเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ มีอำนาจและหน้าที่ตาม ก.ม.
เมื่อวันที่ ๒๗ พ.ค.๙๕ และ ๑๑ ก.ค.๙๕ เวลากลางวันอันเป็นวันประชุมครั้งที่ ๗/๒๔๙๕ และครั้งที่ ๙/๒๔๙๕ ตามลำดับวันที่ดังกล่าว จำเลยนี้ได้บังอาจละเว้นการอันจำเลยมีหน้าที่พึงกระทำในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยปิดบังความจริงมิได้เปิดเผยหรือทัดทานตามหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นผู้รู้ความจริงในเรื่องรายงานการดูงานของโจทก์ซึ่งได้เขียนขึ้นในขณะโจทก์ดูงานเกี่ยวกับการศึกษาอยู่ ณ ประเทศอเมริการและได้ส่งมายังมหาวิทยาลัยประมาณ ๑๐ ฉบับ โดยความรู้เห็นของจำเลยในตำแหน่งหน้าที่เป็นเหตุให้สภามหาวิทยาลัยเข้าใจผิดว่าโจทก์ไปทำงานรับจ้างอยู่กับฝรั่งในสหรัฐอเมริกาได้เงินเดือนละ ๕๐๐ เหรียญ และเป็นผลให้ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติในครั้งแรกที่ ๗/๒๔๙๕ ให้เรียกตัวโจทก์กลับถ้าไม่กลับก็ให้สละตำแหน่งให้ผู้อื่นและมีมติครั้งหลังที่ ๙/๒๔๙๕ ให้จำเลยติดต่อกับกระทรวงต่างประเทศเพื่อขอร้องให้ช่วยโทรเลขถามเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาว่าโจทก์ได้ไปรับจ้างฝรั่งทำงานจริงหรือไม่ โดยตำแหน่งหน้าที่ตาม ก.ม.จำเลยมีหน้าที่ต้องทำรายงานการดูงานของโจทก์เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทราบแต่จำเลยหานำเสนอตามหน้าที่ไม่ กลับปิดบังไว้ทั้งนี้ด้วยเจตนาอันไม่สุจริตเป็นการนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงและดูหมิ่นเกลียดชังจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยและบุคคลทั้งหลายและเกือบจะ+ให้โจทก์ต้องสูญเสียตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นการนำมาซึ่งความเสียหายต่อประเทศชาติแก่มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์และแก่ตัวโจทก์ เพราะโจทก์ต้องปฏิเสธคำเชิญให้เข้าประชุมแทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มหาวิทยลัยฮอบกินส์โจทก์ถือว่าจำเลยกระทำการผิดต่อ ก.ม.อาญา ม.๑๔๕,๔๓
ศาลอาญาถือว่าการกระทำของจำเลยเท่าที่โจทก์บรรยายในฟ้องไม่ผิด ก.ม.อาญา ม.๑๔๕ พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ก.ม.จึงไม่มีความผิดตาม ก.ม.ที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังคำแถลงการณ์ของโจทก์แล้งฟ้องโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม.๑๔๕ นี้จะต้องได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน โจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ ในปัจจุบันเป็นเลขาธิการ
ปรึกษาแล้วเห็นว่าโดยปกติผู้ที่เป็นเจ้าพนักงาน ผู้นั้นจะต้องเป็นข้าราชการตาม ก.ม.เว้นแต่จะมี ก.ม.บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เป็นเจ้าพนักงานดังเช่น พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ ม.๔๔ บัญญัติให้เจ้าพนักงานเทศบาลมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแพ่ง ก.ม.อาญา เป็นต้น และใน พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนม.๒๓ บัญญัติถึงข้าราชการพลเรือนว่ามีอยู่ ๘ ประเภท ก็ไม่กินความถึงจำเลยนี้ส่วน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๔๙๕ ก็เพียงแต่บัญญัติให้มหาวิทยาลัยนี้เป็นนิติบุคคลมีหน้าที่จัดการศึกษาและค้นคว้าในศาสตร์ต่าง ๆ โดยมุ่งส่งเสริมวิชาการชั้นสูงและวัฒนธรรม แห่งชาติเท่านั้น มิได้มีบทบัญญัติให้ผู้ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานแต่อย่างไร
ข้อที่โจทก์ฎีกาอ้างความใน ม.๕๐-๕๔ ว่าผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าพนักงานนั้น ความในมาตราเหล่านี้มีบัญญัติไว้แต่เพียงว่าให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมีสิทธิแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน ๆ และมีสิทธิได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และให้มีสิทธิอื่น ๆ บรรดาที่รัฐให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญทุกประการ เว้นแต่การรับบำเหน็จบำนาญเท่านั้น มิได้บัญญัติให้เป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าพนักงานตาม ก.ม.แต่อย่างไร ฉนั้นจึงถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตาม ก.ม.มิได้
ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลยกฟ้องโจทก์ เสียทันทีไม่ชอบนั้น ตาม ป.วิ.อาญา ม.๑๖๑ ก็บัญญัติไว้ว่าให้ศาลยกฟ้อง ไม่ประทับฟ้อง หรือสั่งให้แก้ฟ้องให้ถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ฉนั้นการที่ศาลสั่งยกฟ้องจะว่ากระทำผิด ก.ม.มิได้ จึงพิพากษายืน