คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในสัญญาถือ ว่าเป็นเบี้ยปรับซึ่ง โจทก์มีสิทธิเรียกเอาได้ แต่ ศาลมี อำนาจที่จะพิจารณาว่าเป็นจำนวนพอสมควรหรือไม่เพียงใด และการเรียกค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับกับการไม่คืนเงินมัดจำเป็นคนละกรณีกัน การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพิ่มขึ้นเพราะจำเลยไม่คืนเงินมัดจำให้โจทก์ย่อมไม่เป็นการสมควร เพราะโจทก์ต้อง ได้ รับเงินมัดจำคืนตาม ฟ้องซึ่ง ศาลวินิจฉัยให้คืนอยู่แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญให้โจทก์แปลงหนึ่งเนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน ตั้งอยู่ที่ห้วยน้ำจันทร์หมู่ที่ 1 ตำบลแจงงาม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ราคา 132,500บาท วางมัดจำ 60,000 บาท ตกลงว่าถ้าจำเลยไม่จดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ภายในกลางเดือน 8 พ.ศ. 2528 จำเลยยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์120,000 บาท ครั้นถึงกำหนดจำเลยแจ้งโจทก์ว่าโอนที่ดินให้ไม่ได้เพราะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อขาย ให้จำเลยคืนมัดจำ 60,000 บาท พร้อมใช้ค่าเสียหายอีก 120,000 บาทรวมเป็นเงิน 180,000 บาท จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับและขอดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง กับดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่เคยบอกขายที่พิพาทให้โจทก์เพราะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโอนกันไม่ได้ โจทก์ก็ทราบดี แต่โจทก์เป็นฝ่ายขอซื้อจากจำเลยเอง วางมัดจำ 60,000 บาท ที่เหลือ 72,500 บาท โจทก์จะชำระให้ภายในกลางเดือน 8 พ.ศ. 2528 หากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบมัดจำหลังจากทำสัญญาจะซื้อขายแล้ว โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาททันที โดยโจทก์ปลูกที่พักอาศัยนำครอบครัวเข้าอยู่และทำไร่แตงโมกับทำนาจนเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เรียบร้อยแล้ว ครั้นถึงกำหนดกลางเดือน 8 พ.ศ. 2528 โจทก์ผิดนัดไม่ชำระเงิน 72,000 บาท ให้จำเลยจำเลยจึงบอกเลิกสัญญา และให้โจทก์ออกไปจากที่พิพาท โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกคืนเงินมัดจำและค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 60,000 บาท และชำระค่าเสียหาย 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน60,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2528 และจากต้นเงิน 10,000บาท ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 40,000บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ที่ดินเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราว (ครั้งที่ 1) เนื้อที่ 15 ไร่กำหนดเวลา 5 ปี ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2532 ตามหนังสืออนุญาตเอกสารหมาย ล.1 ในวันทำสัญญาโจทก์วางเงินมัดจำให้จำเลย 60,000 บาทส่วนที่เหลือโจทก์ยังไม่ได้ชำระ จำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เหตุที่จะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดผิดสัญญาซึ่งต้องฟังก่อนว่าโจทก์ได้รู้หรือไม่ว่าที่ดินที่จะซื้อเป็นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันทำให้ไม่อาจจะจดทะเบียนโอนแก่กันได้ ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์ นายหวล แต่งศรี และนายแบน แป้นทอง มาเบิกความได้ความว่าตอนที่ทำสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 จำเลยไม่ได้บอกโจทก์ว่าที่ดินที่จะซื้อขายเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจำเลยบอกว่าโอนได้และรังวัดไว้แล้ว ฝ่ายจำเลยนำสืบปฏิเสธว่าโจทก์รู้แล้ว เห็นว่านายแบนเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในเอกสารหมาย จ.1 ไว้ด้วย นายชุบ โพธิ์ศรีนางทุเรียน เพ็งสุวรรณ และนายชิ้น หรุ่มเรืองวงศ์ พยานจำเลยก็ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อผู้เขียนเขียนสัญญาจะซื้อขายแล้วผู้เขียนได้อ่านให้โจทก์จำเลยและพยานฟัง ไม่มีฝ่ายใดคัดค้านว่าไม่ถูกต้อง แล้วโจทก์จำเลยและพยานลงชื่อ จึงน่าเชื่อว่าคู่กรณีประสงค์ที่จะให้เป็นไปตามข้อความในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 นั้น คดีฟังได้ว่าโจทก์ไม่รู้ว่าที่ดินตามสัญญาเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ได้จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา แม้ต่อมาจำเลยจะได้หนังสืออนุญาต (สทก.)เอกสารหมาย ล.1 มา จำเลยก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ และเมื่อพิจารณาถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันแล้วราคาไร่ละ 5,000 บาทซึ่งเป็นราคาสูงอยู่ ทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้ที่ดินดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน มิได้ประสงค์จะขอซื้อสิทธิครอบครองเท่านั้น จึงเห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 120,000บาท ให้โจทก์ตามสัญญาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้ว ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ในสัญญาจึงเป็นเบี้ยปรับซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกเอาได้ แต่ศาลมีอำนาจที่จะพิจารณาว่าเป็นจำนวนพอสมควรหรือไม่เพียงใด เห็นว่า การเรียกค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับกับการไม่คืนเงินมัดจำเป็นคนละกรณีกัน ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่าเพราะจำเลยไม่คืนเงินมัดจำให้โจทก์ จึงกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพิ่มขึ้น นั้น ย่อมไม่เป็นการสมควรเพราะโจทก์ต้องได้รับเงินมัดจำคืนตามฟ้องอยู่ดังได้วินิจฉัยแล้ว ประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับ หากจำเลยจดทะเบียนโอนให้ได้น่าจะมีไม่เกิน 30,000 บาท จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วนฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 30,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share