คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11058/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบเพราะพนักงานสอบสวนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่จำเลยมิได้แสดงไว้โดยชัดแจ้งว่าพนักงานสอบสวนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง จำคุก 6 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 ปี รวมกับโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นจำคุก 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่าจำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่งตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาและนำสืบว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถูกผู้เสียหายที่ 2 มารดาไล่ตีแล้วหนีเข้าไปในกุฏิเอง ทำนองว่าจำเลยไม่ได้พราก เห็นว่า เกี่ยวกับการเข้าไปในห้องพักของจำเลยนั้น โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เป็นพยานเบิกความต่อหน้านักสังคมสงเคราะห์ว่าก่อนออกจากบ้าน พยานขอเงินนายอดุลย์บิดา 5 บาท ไปโทรศัพท์หาเพื่อนที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะแล้วเดินต่อไปที่วัดท่าข้ามเพราะงอนผู้เสียหายที่ 2 มารดาที่ชอบบ่น ขณะเดินเล่นอยู่ในวัดจำเลยเข้ามาพูดคุยแล้วชวนไปคุยกันที่กุฏิ พยานจึงเดินตามจำเลยไปและเข้าไปคุยกันในกุฏิ หลังจากคุยกันได้ประมาณ 30 นาทีจำเลยก็กระทำชำเราและบอกว่าจะรับผิดชอบ คืนนั้นพยานจึงนอนค้างกับจำเลยที่ห้องดังกล่าว ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า คืนเกิดเหตุขณะพยานอยู่ที่ห้องพักกับนายอ๊อฟ ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งเป็นเด็กวัด ผู้เสียหายที่ 1 ได้วิ่งเข้ามาในห้องด้วยท่าทางมอมแมม สอบถามแล้วได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 จะมาหาเด็กที่ทำงานอยู่กับเครื่องเล่นรถปั๊ม แต่ถูกมารดาตามหาจึงวิ่งหลบเข้ามาในห้องของจำเลย จำเลยจะไปส่งบ้านแต่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ยอมไป สำหรับชั้นสอบสวนโจทก์มีร้อยตำรวจโทเข็มเพชร พนักงานสอบสวนเบิกความประกอบคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยว่า เมื่อพยานแจ้งข้อหาพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำเลยให้การปฏิเสธโดยไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ให้การต่อหน้านักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการทำนองเดียวกับที่เบิกความต่อศาลว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ขอเงิน 5 บาท จากบิดาไปโทรศัพท์ที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะก่อนแล้วจึงเดินไปเที่ยวที่วัดท่าข้าม ขณะเดินดูของตามร้านในวัดซึ่งงานรื่นเริงในวัดเลิกแล้วจำเลยได้เข้ามาพูดคุยแล้วชวนไปที่กุฏิในวัด ตามคำให้การ เห็นว่า คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 สอดคล้องรับสมกันอย่างไม่มีพิรุธ การเบิกความและการให้การดังกล่าวกระทำต่อหน้านักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้คอยพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะมีผู้ใดเสี้ยมสอนให้ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความหรือให้การต่างไปจากความจริง คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อรับฟังเป็นความจริงได้ ต่างจากคำเบิกความของจำเลยซึ่งไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุนเลย ชั้นสอบสวนตามคำให้การของจำเลย ซึ่งจำเลยได้รับแจ้งสิทธิให้พบและปรึกษาทนายความได้ จำเลยก็ไม่ได้ให้การว่าผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหนีมารดาหลบเข้ามาอยู่ในห้องของจำเลยเองดังที่เบิกความต่อศาลแต่อย่างใด หากผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหนีมารดามาจริง จำเลยก็น่าจะให้การต่อพนักงานสอบสวนตั้งแต่ต้นเพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเก็บข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้แล้วเพิ่งมาเปิดเผยในชั้นพิจารณา ที่จำเลยเบิกความว่า มีนายอ๊อฟ เด็กวัดคนหนึ่งอยู่ในห้องพักกับจำเลยด้วยตอนที่ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งเข้ามา จำเลยก็ไม่นำนายอ๊อฟดังกล่าวมาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่อ้างว่าผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหนีเข้ามาหลบอยู่ในห้องพักกับจำเลยเอง ทำนองว่าจำเลยไม่ได้ชักชวน จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปคุยกันที่กุฏิในวัดแล้วถือโอกาสกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ตามที่โจทก์นำสืบจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่งตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดสองกรรมตามฟ้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยฎีกาในตอนท้ายว่าการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบเพราะพนักงานสอบสวนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจำเลยก็มิได้แสดงไว้โดยชัดแจ้งว่าพนักงานสอบสวนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share