แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดเป็นคดีที่ตกอยู่ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 4 ประการดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ต้องถือว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร อันมีผลตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน
คำว่า “ด้วยกัน” ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 15 (1) ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ทหารกับพลเรือนได้ร่วมกระทำความผิดตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเสมอไป
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทหารประจำการ โดยบรรยายคำฟ้องว่า จำเลยกับนายเดช (พลเรือน) ซึ่งยังหลบหนีอยู่ ต่างขับรถคนละคันด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเฉี่ยวชนกัน เป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บสาหัส เช่นนี้ เป็นเรื่องที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน เป็นคดีที่ตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 14 (1) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ต้องดำเนินคดีต่อศาลพลเรือนตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลพลเรือนประทับรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 22/2513)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นทหารประจำการสังกัด ร.๑ รอ. จังหวัดพระนคร ได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวพันกับพวกอีก ๑ คน คือนายเดช ลอยดารา ซึ่งเป็นพลเรือนที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๐ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกาเศษ จำเลยได้ขับรถยนต์ตรากงจักรสีแดง หมายเลข ๓๔๘๙๘ แล่นไปตามถนนเพชรเกษมโฉมหน้าจากจังหวัดนครปฐมจะไปจังหวัดพระนคร ส่วนนายเดช ลอยดารา ที่หลบหนีได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลข ก.ท.ด. ๒๕๖๒๐ แล่นไปตามถนนเพชรเกษมโฉมหน้าจากจังหวัดพระนครจะไปยังจังหวัดนครปฐม จำเลยกับนายเดช ลอยดารา ต่างขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง ไม่ลดความเร็วของรถเมื่อจะแซงสวนทางกัน เป็นเหตุให้รถของจำเลยเฉี่ยวชนกับรถของนายเดช ลอยดารา เป็นเหตุให้ผู้โดยสารที่มาในรถของจำเลยถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้เนื่องมาจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยและนายเดช เหตุเกิดที่ตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑, ๓๐๐, ๓๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๙, ๖๖ พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๘๑ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗, ๑๓ กับให้ถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยประมาท พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ฟ้องผิดศาล ศาลพลเรือน (ศาลจังหวัดนครปฐม) ไม่มีอำนาจรับฟ้องไว้พิจารณา เพราะคดีของโจทก์หาใช่เรื่องที่จำเลยทำผิดเกี่ยวพันกับนายเดชซึ่งเป็นพลเรือน คดีไม่เข้าข้อยกเว้นที่ศาลพลเรือนจะรับไว้พิจารณาได้ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำหน่ายคดี
โจทก์ฎีกาว่าคดีโจทก์เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ (๒) ฟ้องยังศาลพลเรือนได้ตามมาตรา ๑๕ วรรคแรก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า “คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารคือ
(๑) คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
(๒) คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
(๓) คดีที่ต้องดำเนินในศาลคดีเด็กและเยาวชน
(๔) คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร”
และมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน” ฉะนั้น ถ้าคดีนี้ตกอยู่ในกรณีใดกรณีหนึ่งใน ๔ ประการของมาตรา ๑๔ แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร อันมีผลตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง คือต้องดำเนินคดีส่งฟ้องต่อศาลพลเรือน
ปัญหามีว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องมาจะเป็นกรณีที่โจทก์จะฟ้องต่อศาลจังหวัดนครปฐม หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นคดีที่ตกอยู่ในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็บรรยายว่า จำเลยกระทำผิดโดยประมาท และความตายของพลทหารประดิษฐ์เกิดขึ้นเพราะความประมาทของพลเรือนที่หลบหนีไปซึ่งขับรถโดยประมาทกับจำเลยซึ่งขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวและชนกัน กรณีจึงเห็นได้ว่าถ้าไม่เป็นเพราะจำเลยและพลเรือนกระทำผิดโดยประมาทด้วยกัน ความตายของผู้ตายก็เกิดขึ้นไม่ได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีเช่นนี้ตกอยู่ในบทบัญญัติมาตรา ๑๔ (๑) ที่ว่า “คดีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน” คำว่า “ด้วยกัน” ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องที่ทหารกับพลเรือนได้ร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาเสมอไป แม้ทหารจะกระทำผิดฐานประมาท และพลเรือนก็กระทำผิดฐานประมาทแล้วเป็นเหตุให้คนถึงแก่ความอย่างเช่นคดีนี้ ก็เป็นเรื่องที่ “กระทำผิดด้วยกัน” ด้วย เมื่อคดีนี้เป็นคดีตกอยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๑๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ต้องดำเนินคดีนี้ต่อศาลพลเรือน ตามมาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่