แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จะถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33 และมาตรา 34 ได้นั้น ผู้กระทำจะต้องชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการผู้อื่นโดยเจตนาให้ผู้อื่นนั้นเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ หากเป็นการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็เป็นความผิดตามมาตรา 33 แต่หากเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ ผู้กระทำต้องชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่นด้วยจึงจะเป็นความผิดตามมาตรา 34 ส่วนความผิดตามมาตรา 61 เป็นบทกำหนดโทษสำหรับผู้ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 (ข) ว่า จำเลยทั้งแปดโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ พูดชักชวน ชี้ช่อง จัดการให้ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกในชมรมดังกล่าว และประกาศทางใบปลิวว่า ได้ก่อตั้งชมรมโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์นำเงินไปช่วยเหลือค่าจัดการศพสมาชิกที่ตาย หากประชาชนผู้ใดประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกจะต้องเสียเงินค่าสมัครคนละ 290 บาท ค่าจัดการศพให้แก่สมาชิกที่ตายทุกเดือน เดือนละ 480 บาท ผ่านทางจำเลยทั้งแปดกับพวก และหากสมาชิกตายเมื่อครบกำหนด 3 เดือน ได้รับเงิน 30,000 บาท หากครบ 6 เดือน ได้รับเงิน 50,000 บาท โดยจะไม่โกงหรือเลิกกิจการ แต่ความจริงจำเลยทั้งแปดกับพวกมิได้จดทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์หรือขึ้นทะเบียนการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามกฎหมาย และไม่มีเจตนานำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกที่ตาย และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ประชาชนหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกและจ่ายเงินค่าสมัครและเงินค่าจัดการศพสมาชิกที่ตายให้แก่จำเลยทั้งแปดกับพวกไป ฟ้องของโจทก์เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่า จำเลยทั้งแปดไม่มีเจตนาชักชวนผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์เพราะไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกอื่นที่ถึงแก่ความตาย และมิได้มีเจตนาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามบทนิยามของกฎหมายแต่อย่างใด คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 61 แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพในความผิดฐานดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนและมิได้ยกขึ้นอ้างชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341, 343 พระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33, 34, 61, 66 ให้จำเลยทั้งแปดคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งยี่สิบสามตามจำนวนที่แต่ละคนถูกฉ้อโกงไป นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 7 ที่ 10 และที่ 6 ตามลำดับในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1034/2549 ของศาลชั้นต้น กับให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 7 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1034/2549 และจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1137/2550 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33, 34, 61, 66 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33, 34, 66 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ฐานร่วมกันชักชวนให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังมิได้จดทะเบียน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 8 คนละ 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ฐานดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 และยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 6 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับข้อหาร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ในข้อหาร่วมกันชักชวนให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 ฐานร่วมกันชักชวนให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์โดยได้รับประโยชน์ตอบแทน ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ฐานดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 10,000 บาท และให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 สำหรับฐานร่วมกันชักชวนให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังมิได้จดทะเบียนคนละ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 เป็นความผิดฐานร่วมกันชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังมิได้จดทะเบียน กับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8 เป็นความผิดฐานร่วมกันชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่นเพราะคำว่าสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ตาม มาตรา 34 ของพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มิได้มีความหมายเฉพาะสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่จดทะเบียนเท่านั้น นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวตามฟ้องเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 61 หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 บัญญัติว่า “การฌาปนกิจสงเคราะห์” หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้าร่วมกันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ตกลงเข้าร่วมกันนั้นซึ่งถึงแก่ความตายและมิได้ประสงค์จะหากำไรหรือรายได้เพื่อแบ่งปันกัน “สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์” หมายความว่า สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 33 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการโดยวิธีใดๆ ที่คล้ายคลึงกันให้ผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังมิได้จดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย และมาตรา 34 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่น ไม่ว่าจะเป็นสินจ้างหรือค่าใช้จ่ายอื่นจากการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการนั้น ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า การที่จะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 34 ได้นั้น ผู้กระทำจะต้องชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการผู้อื่นโดยเจตนาให้ผู้อื่นนั้นเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ หากเป็นการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนก็เป็นความผิดตามมาตรา 33 แต่หากเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ ผู้กระทำต้องชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินหรือทรัพย์สินอื่นด้วยจึงจะเป็นความผิดตามมาตรา 34 ส่วนความผิดตามมาตรา 61 เป็นบทกำหนดโทษสำหรับผู้ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 (ข) ว่า จำเลยทั้งแปดโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ พูดชักชวน ชี้ช่อง จัดการให้ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกในชมรมดังกล่าว และประกาศทางใบปลิวว่า ได้ก่อตั้งชมรมโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์นำเงินไปช่วยเหลือค่าจัดการศพสมาชิกที่ตาย หากประชาชนผู้ใดประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกจะต้องเสียเงินค่าสมัครคนละ 290 บาท ค่าจัดการศพให้แก่สมาชิกที่ตายทุกเดือน เดือนละ 480 บาท ผ่านทางจำเลยทั้งแปดกับพวก และหากสมาชิกตายเมื่อครบกำหนด 3 เดือน ได้รับเงิน 30,000 บาท หากครบ 6 เดือน ได้รับเงิน 50,000 บาท โดยจะไม่โกงหรือเลิกกิจการ แต่ความจริงจำเลยทั้งแปดกับพวกมิได้จดทะเบียนเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์หรือขึ้นทะเบียนการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามกฎหมาย และไม่มีเจตนานำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกที่ตาย และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ประชาชนหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกและจ่ายเงินค่าสมัครและเงินค่าจัดการศพสมาชิกที่ตายให้แก่จำเลยทั้งแปดกับพวกไป ฟ้องของโจทก์เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่า จำเลยทั้งแปดไม่มีเจตนาชักชวนผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์เพราะไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกอื่นที่ถึงแก่ความตาย และมิได้มีเจตนาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามบทนิยามของกฎหมายแต่อย่างใด คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 61 แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพในความผิดฐานดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนและมิได้ยกขึ้นอ้างชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225 และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วย มาตรา 225 และเมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้อที่เหลืออีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ยังมิได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 33 สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 และยกฟ้องโจทก์ในข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนสำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6