คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องวินัยและการรักษาวินัยกำหนดให้ถือตามระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ฯ ห้ามมิให้ข้าราชการพลเรือน ฯ ประพฤติชั่ว หากผู้ใดประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก การที่โจทก์นำตัวเหี้ยไปผูกไว้ที่ต้นปาล์มหน้าโรงงาน และปิดประกาศมีข้อความหยาบคาย ด่าดูหมิ่นเหยียดหยาม ขับไล่ อ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา อันเป็นการไม่เคารพและแสดงถึงความประพฤติในทางเสื่อมทรามของโจทก์ จึงถือได้ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ ฯ ของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือและไม่จ่ายค่าชดเชยได้
ประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 68 ให้อำนาจนายจ้างกำหนดวินัยและโทษทางวินัยขึ้นใช้บังคับแก่ลูกจ้างได้ แต่ในกรณีลูกจ้างกระทำผิดวินัยอันมีโทษถึงปลดออกและนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าการกระทำผิดของลูกจ้างต้องด้วยกรณีใดกรณีหนึ่งตามข้อ 47(1) ถึง (6) แห่งประกาศ ฯ ดังกล่าวเป็นสำคัญ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๑ จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานฐานกระทำผิดวินัย โดยกล่าวหาว่าโจทก์ปิดประกาศข้อความว่า “ไอ้ตัวร้าย จัญไร ใจสัตว์ อรุณ สัตย์ตะเมฆ ออกไปให้พ้นจากโรงงานสุรา คนงานพนักงานไม่ต้องการแล้วโว้ย” เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้บังคับบัญชา ซึ่งมิใช่เป็นการปลดโจทก์ในกรณีใดกรณีหนึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๗ ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย โบนัส และบำเหน็จให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอย่างร้ายแรง โดยจำเลยนำตัวเหี้ยไปผูกไว้ที่โคนต้นปาล์มและปิดประกาศมีข้อความตามฟ้อง โดยมีเจตนาให้นายอรุณ ศตะเมฆ ผู้จัดการโรงงานอันเป็นตัวแทนของจำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการแสดงเจตนาดูหมิ่นเหยียดหยามต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยให้ถือตามระเบียบข้าราชการพลเรือน ถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือโบนัส ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นแรกศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์จงใจทำให้นายจ้างเสียหายต้องด้วยข้อยกเว้นในข้อ ๔๗(๒) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ อันเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จและโบนัสตามระเบียบของจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายอรุณ และกรณีไม่เข้าตามข้อยกเว้นในข้อ ๔๗(๒) แห่งประกาศ ฯ ดังกล่าว แต่คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เข้าตามข้อยกเว้นในข้อ ๔๗(๑) และ (๓) หรือไม่ สมควรให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ตลอดทั้งปัญหาเรื่องค่าชดเชย โบนัสและบำเหน็จต่อไป พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๘๑ ซึ่งจะต้องรับโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดให้ลูกจ้างต้องรักษาวินัยตามระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งใช้บังคับอยู่โดยอนุโลม การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ ๔๗(๓) และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและโบนัสจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ ๖.๖ กำหนดว่า “ลูกจ้างต้องรักษาวินัยตามระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งใช้บังคับอยู่โดยอนุโลมตามควรแก่กรณี” ซึ่งมีความหมายว่า ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้ถือระเบียบข้าราชการพลเรือนในเรื่องวินัยและการรักษาวินัยเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยด้วย และตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน มาตรา ๘๑ บัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง” ซึ่งมีโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออก เห็นได้ว่า พฤติการณ์ที่โจทก์กระทำต่อนายอรุณเป็นไปในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามให้ได้รับความอับอายขายหน้า ซึ่งโจทก์ในฐานะพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่เป็นการเคารพผู้บังคับบัญชาแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความประพฤติของโจทก์ไปในทางที่เสื่อมทรามอีกด้วย การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงได้ชื่อว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๘๑ และถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๑) จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือและได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนไม่อาจนำมาใช้ปรับบทของกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นกรณีของโจทก์ได้เพราะขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เห็นว่า วินัยและโทษทางวินัยเป็นรายการที่นายจ้างต้องให้มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๖๘ เป็นแต่ประกาศ ฯ ฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดถึงการกระทำของลูกจ้างที่เป็นความผิดทางวินัยไว้เท่านั้น หาได้หมายความว่านายจ้างไม่อาจกำหนดวินัย โทษทางวินัยขึ้นใช้บังคับ ดังข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ ส่วนการที่นายจ้างจะปลดลูกจ้างออกจากงานเพราะทำผิดวินัยมีโทษถึงปลดออกนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อ ๔๗ แห่งประกาศ ฯ ดังกล่าว หากการปลดออกนั้นมิใช่เป็นกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่ระบุไว้ในข้อ ๔๗(๑) ถึง (๖) นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชย ดังนั้นการที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดให้ลูกจ้างต้องรักษาวินัยตามระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งใช้บังคับอยู่โดยอนุโลม จึงไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและโบนัสจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่าตามคำสั่งที่ ๑๒๔/๒๕๐๑ เรื่อง ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงานและวันหยุดงาน ค่าจ้าง เงินชดเชย เงินค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ และบำเหน็จพนักงานและคนงานในโรงงานสุรา พ.ศ. ๒๕๐๑ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ข้อ ๓๔ ระบุว่า “พนักงานประจำที่ตายเพราะการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเอง หรือออกจากงานเพราะได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ” และคำสั่งที่ ๔๐/๒๔๙๕ เรื่อง ระเบียบว่าด้วยการจ่ายเบี้ยเลี้ยงกรรมการและโบนัสของกรรมการและพนักงานโรงงานสุรา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ของกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๙๕ ข้อ ๑๖ ระบุว่า “ผู้ที่ถูกไล่ออกหรือปลดออกจากงานโดยมีความผิด ให้งดจ่ายเงินโบนัสในปีนั้น” คำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับระหว่างบริษัทจำเลยกับพนักงานและคนงานของโรงงานสุราบางยี่ขัน ตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๒๒ และ พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๑๒ ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับบริษัทจำเลย เมื่อได้ความว่าโจทก์ถูกปลดออกจากงานเนื่องจากได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จและโบนัสตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าว
พิพากษายืน

Share