คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทเป็นทั้งความผิดลหุโทษและที่มิใช่ลหุโทษ แต่ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาในความผิดลหุโทษแต่บทเดียวแล้วเปรียบเทียบปรับไป ถือว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ทำให้คดีเลิกกันอันเป็นเหตุให้สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไป พนักงานอัยการมีสิทธิฟ้องจำเลยในความผิดที่มิใช่ลหุโทษอีกได้
คืนเกิดเหตุมีการชุมนุมกันกระทำพิธีสวดมนต์ทำบุญฉลองกระดูกผู้ตายตามพุทธศาสนาบนหอสวดมนต์ จำเลยขึ้นมาส่งเสียงเอะอะอื้อฉาว ซ้ำยังกล่าวว่า พระนี่ยุ่งจริงพระไม่มีความหมายแล้วจำเลยนั่งลงใช้มือตบกระดาน 7-8 ครั้งและชักปืนพกออกจากเอวมาถือไว้ หันปากกระบอกปืนมาทางพระแล้วปืนตกลงยังพื้นหอสวดมนต์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวถึงแม้ผู้ที่ไปชุมนุมกันจะไม่มีปฏิกิริยาวุ่นวายขึ้นก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 207

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ก่อให้เกิดวุ่นวายขึ้น โดยใช้ปืนจ้องปากกระบอกตรงไปที่พระมหาวิบูลย์ในที่ประชุมศาสนิกชน เวลาประชาชนกระทำพิธีกรรมทำบุญสวดมนต์ฉลองกระดูกผู้ตายตามพุทธศาสนา และจำเลยยังได้พกพาอาวุธปืนสั้น ๑ กระบอกไปในที่ชุมนุมชนดังกล่าว โดยไม่มีเหตุอันสมควรขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๗, ๓๗๑ และสั่งริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๗, ๓๗๘ ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาว่าจำเลยเสพสุราเป็นเหตุให้ตนเมาประพฤติวุ่นวายครองสติไม่ได้ในที่สาธารณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๘ พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดฐานนี้แล้ว สิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๗ ฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชน ซึ่งเป็นกรรมเดียวกันนั้นเป็นอันระงับไปแต่จำเลยยังมีความผิดในข้อหาฐานพาอาวุธปืนไปในที่ชุมนุมชนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกัน พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ลงโทษปรับ ๑๐๐ บาทข้อหาอื่นให้ยก ส่วนอาวุธปืนของกลางเป็นปืนมีทะเบียน ยังไม่เห็นสมควรให้ริบ
โจทก์ จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่มีความเห็นแย้ง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยในกรณีนี้เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คือ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๐๗ ฐานก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ชุมนุมศาสนิกชน บทหนึ่งกับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๘ ฐานเสพสุราเมาประพฤติตนวุ่นวายครองสติไม่ได้ในสาธารณสถานอีกบทหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ให้ใช้กฎหมายบทที่หนักที่สุดลงโทษ จึงต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๗ ซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลย แม้จะเปรียบเทียบปรับไปแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๘ ก็เป็นการไม่ชอบ และผิดความมุ่งหมายของกฎหมายคดียังไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๗ โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา ๒๐๗ ได้
สำหรับข้อหาตามมาตรา ๒๐๗ ฟังได้ว่า คืนเกิดเหตุนางสาวถนอมนิมนต์พระมาสวดมนต์ทำบุญฉลองกระดูกนางผ่อง โดยมีพรรคพวกของนางสาวถนอมอีกหลายคนชุมนุมกันกระทำพิธีตามพุทธศาสนา จำเลยได้ขึ้นมาบนหอสวดมนต์ในลักษณะมึนเมาสุรา ส่งเสียงเอะอะอื้อฉาวซ้ำยังกล่าวว่า พระนี่ยุ่งจริง พระไม่มีความหมาย แล้วจำเลยนั่งลง ใช้มือตบกระดานดัง ๆ ๗-๘ ครั้ง และชักปืนพกสั้นออกจากเอวมาถือไว้ หันปากกระบอกปืนมาทางพระมหาวิบูลย์ แล้วปืนตกลงยังพื้นหอสวดมนต์ ได้มีคนเข้ามาเก็บเอาปืนพาจำเลยลงไปจากหอสวดมนต์การกระทำของจำเลยดังกล่าวประกอบกันถึงแม้ผู้ที่ไปชุมนุมกันจะไม่มีปฏิกิริยาวุ่นวายขึ้นก็ตามก็ยังถือได้ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๗
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ในกระทงความผิดเรื่องประพฤติตนวุ่นวายนั้น จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๐๗ อีกบทหนึ่งด้วย ให้ปรับจำเลยตามมาตรา ๒๐๗ อันเป็นบทหนักและกระทงหนักที่สุด เป็นเงิน ๔๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share