คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ผู้ทำแผนมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมายและสมควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ในการพิจารณาว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะได้รับในกรณีที่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว การที่ทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีราคาประเมินเพียงใดจึงเป็นสาระสำคัญ
แม้ว่าการกำหนดหรือวินิจฉัยราคาประเมินทรัพย์สินของลูกหนี้แต่ละช่วงจะไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาในช่วงอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อมีการประเมินราคาทรัพย์สินโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ราคาประเมินย่อมแตกต่างกันได้ แต่ในคดีนี้มีการประเมินตีราคาทรัพย์สินในเวลาต่างกันเพียงประมาณ 5 ถึง 6 เดือน โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในการประเมินมีราคาแตกต่างกันถึงประมาณ 2,000,000,000 บาท กรณีจึงต้องมีเหตุอันสมควรและอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เมื่อผู้ทำแผนมิได้แสดงถึงเหตุดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง การประเมินราคาครั้งหลังเพื่อจัดทำแผนจึงไม่มีน้ำหนัก เมื่อการประเมินราคาทรัพย์สินต่ำลงมากทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปชำระตีใช้หนี้แก่เจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีผู้ร้องขอเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในราคาต่ำ ทำให้หนี้ลดลงเพียงจำนวนน้อยและหนี้ส่วนที่ขาดอยู่มีจำนวนสูงขึ้น เมื่อนำหนี้ส่วนที่ไม่มีประกันส่วนนี้ไปจัดสรรชำระหนี้ย่อมส่งผลให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ได้รับชำระหนี้น้อยลง เจ้าหนี้อื่นย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการตีราคาทรัพย์สิน
เมื่อมีเหตุข้อสงสัยเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งใช้ในการจัดทำแผน ถือได้ว่าผู้ทำแผนยังแสดงพยานหลักฐานไม่ได้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/58 วรรคสาม ทั้งมีพฤติการณ์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดทำขึ้นโดยมุ่งประโยชน์ของผู้ร้องขอ ไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่น การที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้อื่นในอันที่จะได้รับชำระหนี้อย่างน้อยเท่ากับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งบริษัทสำนักงานกฎหมายฟาร์อิสท์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำแผน ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 (2) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งแจ้งความกำหนดวันนัดพิจารณาให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/56
ลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 528 ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่า เมื่อมติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา 90/46 (2) การชำระหนี้ตามแผนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 กฎหมายกำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินบางประเภทตามมาตรา 130 ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะมีการแบ่งทรัพย์สินหรือชำระหนี้ในคดีล้มละลายต่อไปได้ สำหรับหนี้ภาษีอากรค้างชำระต่อกรมสรรพากร ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 177 นั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกจัดไว้ในมาตรา 130 (6) ดังนั้น ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก่อนที่จะทำการแบ่งทรัพย์สินหรือชำระหนี้ในคดีล้มละลาย หากแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดรายละเอียดของแผนให้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 130 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แผนฟื้นฟูกิจการนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการแผนดังกล่าวมิได้นำหนี้ค่าภาษีอากรของกรมสรรพากรซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหรือหนี้ที่อยู่ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 130 (6) มาตัดจากสินทรัพย์ของลูกหนี้ที่ปลอดภาระผูกพันก่อนจึงมิได้มีการนำพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 130 มาปรับใช้ แต่ตามแผนดังกล่าวได้จัดวิธีการให้เจ้าหนี้รายที่ 177 ได้รับชำระไปตามแผนที่ผู้ทำแผนกำหนด ซึ่งหากแผนฟื้นฟูกิจการบังคับใช้แล้วจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก แผนฟื้นฟูกิจการจึงขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (2) ผู้ทำแผนได้เสนอวิธีการจัดสรรหนี้ที่ปรากฏรายละเอียดในแผนฟื้นฟูกิจการเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าหนี้กลุ่มอื่น ๆ ประกอบกันแต่อย่างใด จนทำให้แผนฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ปรากฏข้อบกพร่องขึ้นในสาระสำคัญตามวิธีการจัดสรรหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มจะได้รับชำระหนี้คิดเป็นจำนวนร้อยละของยอดหนี้ตามสัดส่วน แต่ผลของการได้รับชำระหนี้ตามแผนที่ผู้ทำแผนได้นำเสนอให้ทำการจัดชำระหนี้ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (2) ถ้าหากมีการจัดสรรหนี้ให้เข้ากับหลักกฎหมายในมาตรา 90/58 (2) แล้ว เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มจะได้รับการชำระหนี้คิดเป็นร้อยละของยอดหนี้ในจำนวนที่ลดลง เมื่อเทียบผลร้อยละของการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม จะเห็นว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 และที่ 6 ในส่วนของเจ้าหนี้ภาษีอากร กับกลุ่มที่ 5 และที่ 8 ได้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แผนดังกล่าวมิได้ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายล้มละลายในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แผนฟื้นฟูกิจการเอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้รายใหญ่รายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ ในส่วนของผู้ทำแผนเมื่อมีเจ้าหนี้รายใดยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนต้องมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของลูกหนี้อย่างเต็มที่ โดยผู้ทำแผนต้องคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยื่นเข้ามาโดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่ ๆ ว่ามีการยื่นคำขอรับชะรหนี้ถูกต้องหรือไม่ เพียงใด สมควรจะได้รับการชำระหนี้จริงเท่าใดเพราะจะมีผลต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้อื่น ๆ นอกจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้วในส่วนของผู้บริหารแผนที่ผู้ทำแผนเสนอเข้ามาในแผนฟื้นฟูกิจการคือ บริษัทแอสเซ็ท รีคัฟเวอรี่ จำกัด กรรมการผู้มีอำนาจบางคนของบริษัทผู้บริหารแผน คือ นายธีรพล วรนิธิพงศ์ ก็เป็นบุคคลเดียวกับผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้และเมื่อได้พิจารณาในส่วนอำนาจพิเศษของผู้บริหารแผนตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการหน้า 134 ที่ว่า กรณีที่มีข้อโต้แย้งใด ๆ เกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์ การโอนให้ผู้บริหารแผนใช้ดุลพินิจเพื่อยุติข้อโต้แย้งใด ๆ ดังกล่าวและให้เจ้าหนี้ทุกรายถือดุลพินิจและการตัดสินใจของผู้บริหารแผนเป็นที่สุด หากในการดำเนินการบริหารแผนต่อไปในอนาคตและเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ผู้บริหารแผนจะดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อื่นให้ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างไร ในเมื่ออีกฐานะหนึ่งตนเองยังเป็นตัวแทนของเจ้าหนี้รายใหญ่บางรายด้วย
ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 669 ยื่นคำคัดค้านว่า ในแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้กล่าวถึงการไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้ ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า หนี้ภาษีอากรของเจ้าหนี้รายที่ 177 มิได้เป็นหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 130 (6) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และมาตรา 256 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้เพราะลูกหนี้ได้ค้างชำระค่าภาษีอากรเจ้าหนี้รายที่ 177 มาตั้งแต่ปี 2538 และ 2539 จึงเป็นค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระมากว่า 3 ปี ซึ่งเกินกว่า 6 เดือน ก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการ ส่วนที่คัดค้านว่าแผนไม่ชอบด้วยมาตรา 90/58 ผู้คัดค้านที่ 1 และลูกหนี้ได้นำราคาตลาดมาคำนวณโดยไม่ถูกต้องคือตารางที่ 2 ท้ายคำคัดค้าน ผู้คัดค้านแสดงรายละเอียดการรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้กรณีปฏิบัติตามแผนโดยมีข้อมูลไม่ถูกต้องคือได้คำนวณโดยใช้หนี้บุริมสิทธิให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 177 ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ดังนั้น เงินสดที่เหลือจ่ายชำระเจ้าหนี้ไม่มีประกันจึงไม่ตรงตามความเป็นจริงตามที่กล่าวไว้ในแผน และผู้คัดค้านที่ 1 แสดงรายละเอียดการที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้นไม่ถูกต้อง จึงทำให้เข้าใจผิดว่าหากลูกหนี้ล้มละลายเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ดีกว่าได้รับชำระตามแผน การที่บริษัทเลห์แมน บราเดอร์ จำกัด ได้เคยยื่นหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการของลูกหนี้เพื่อเสนอการประนอมหนี้ ก็ด้วยต้องการจะประนีประนอมมิให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ และต้องการให้ลูกหนี้ประกอบกิจการต่อไปได้ โดยได้เสนอลดหนี้จำนวนมากให้แก่ลูกหนี้ แต่กรรมการผู้จัดการของลูกหนี้กลับไม่ยอมตกลงด้วย ทั้งข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อไม่มีการตอบสนอง จึงไม่เกิดเป็นสัญญาใด ๆ ขึ้นมา ส่วนราคาทรัพย์สินของลูกหนี้ที่นำมาประกอบการจัดทำแผน ผู้ทำแผนได้ใช้ราคาประเมินของบริษัทชาเตอร์ พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งมีราคาประเมินสูงกว่าของบริษัทเดอะ แวลูเอชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งบริษัททั้งสองได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประเมินราคาต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยปรากฏว่าราคาประเมินของบริษัทชาเตอร์ พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ผู้ทำแผนใช้ประกอบทำแผนได้ประเมินราคาไว้ต่ำกว่าราคาที่เคยเสนอต่อศาลในชั้นไต่สวนคำร้องขอ ดังนั้น ผู้ทำแผนจึงเห็นว่าราคาทรัพย์สินที่ใช้ประกอบในแผนเป็นราคาที่เชื่อถือได้ และได้มาโดยวิธีการตามมาตรฐานการประเมินราคาถูกต้องแล้ว ความเกี่ยวพันระหว่างผู้บริหารแผนและเจ้าหนี้รายที่ 683 มีอยู่จริง จึงเป็นเหตุให้ได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมเจ้าหนี้ ผู้บริหารแผนมิได้มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมายแต่ประการใด และผู้บริหารแผนจะต้องบริหารแผนด้วยความสุจริตให้เป็นไปตามแผนภายใต้การดูแลของคณะกรรมการเจ้าหนี้และจะต้องรายงานต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายอยู่แล้ว การที่ผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 683 เพราะเห็นว่าหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 683 ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ทำแผนได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่เห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบทั้งหมดประมาณ 153 ราย และปรากฏว่าเจ้าหนี้รายอื่นได้โต้แย้งเจ้าหนี้รายที่ 683 อยู่แล้ว ส่วนผู้คัดค้านทุกคนหากเห็นว่าเจ้าหนี้รายใดยื่นขอรับชำระหนี้ไม่ถูกต้องก็สามารถโต้แย้งได้อยู่แล้ว ขอศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า แผนมีรายการเกี่ยวกับการไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญา แผนจึงมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 แผนได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการออกเป็น 6 กลุ่ม คือ
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันน้อยกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกหนี้ซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้พนักงาน
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กรรมการและบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่น ๆ
แผนได้กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ตรี สำหรับหนี้ค่าภาษีอากรของเจ้าหนี้รายที่ 177 ถึงกำหนดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเกินกว่า 6 เดือน ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ใช่หนี้ค่าภาษีอากรตามมาตรา 130 (6) ในอันที่เจ้าหนี้รายที่ 177 จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น แต่เป็นหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130 (7) และที่เจ้าหนี้อ้างว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้น้อยกว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้นเนื่องจากตัวเลขที่เจ้าหนี้นำมาคำนวณในกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลายเป็นราคาตลาด ซึ่งผิดหลักวิชาการประเมินราคาทรัพย์สิน ที่ถูกต้องจะต้องเป็นราคาบังคับขาย ตามแผนเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จเจ้าหนี้มีประกันและเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะได้รับชำระหนี้มากกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แผนจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา 90/58 (3) สำหรับข้อคัดค้านอื่น ๆ ของลูกหนี้และผู้คัดค้านนอกจากนี้ไม่ใช่ข้อคัดค้านที่ศาลจะมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน แผนจึงชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 90/58 ทุกประการแล้ว
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และลูกหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ไม่ประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนของศาลล้มละลายกลางอีกต่อไป ขอถอนอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 2 ถอนอุทธรณ์ได้
ลูกหนี้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2544 ขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ว่าผู้ทำแผนได้เสนอวิธีการจัดสรรชำระหนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น โดยได้กำหนดราคาทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งในส่วนราคาบังคับขายและราคาตลาดต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงของทรัพย์สินอย่างมาก การที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันและมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อราคาทรัพย์สินของลูกหนี้ถูกกำหนดไว้ในราคาที่ต่ำก็เท่ากับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 จะได้รับชำระหนี้เป็นทรัพย์สินในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นผลให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้อื่น ๆ เสียเปรียบ แผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 (3)
ผู้ทำแผนแถลงคัดค้านว่า ข้อเท็จจริงที่ลูกหนี้หยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์นั้น ไม่ถูกต้องตามความจริงเพราะเป็นเพียงการหยิบยกเอาหลักฐานการจดทะเบียนจำนองมาแสดงเท่านั้น การตีราคาทรัพย์สินตามแผนเป็นการตีราคาเฉพาะที่ดินเป็นส่วนใหญ่ แต่การจัดทำโครงการเพื่อขอกู้เงินของบริษัทบางพลีวิว จำกัด ผู้รับโอนนั้น ผู้รับโอนจะก่อสร้างบนที่ดินที่ตีใช้หนี้จำนอง มีการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม ดังนั้น วงเงินจำนองจึงครอบคลุมถึงสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเป็นการจำนองครอบครองทั้งโครงการ ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มหลักประกันจำนองโดยไม่เพิ่มวงเงิน อีกทั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ภายหลังล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้วจึงไม่อาจยื่นได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ลูกหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2544 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2543 การยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลล้มละลายกลางในคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จะต้องยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่งนั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง เช่นนี้การขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ จึงต้องกระทำภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย เมื่อลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ในวันที่ 21 มิถุนายน 2544 เกินกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นสาระสำคัญ จึงไม่อาจอนุญาตให้ลูกหนี้แก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ได้ให้ยกคำร้อง แต่ให้รับคำรัองขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เป็นคำแถลงการณ์
ประการที่สอง เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ที่ลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ว่า แผนฟื้นฟูกิจการได้เสนอวิธีการจัดสรรชำระหนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าหนี้กลุ่มอื่น ๆ ประกอบแต่อย่างใด ทำให้แผนฟื้นฟูกิจการบกพร่องในสาระสำคัญขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (3) นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนนั้น พระราชบัญญัติล้มละลายฯ กำหนดให้ผู้ทำแผนส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้นหรือไม่ เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการแล้วก็ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่งว่าแผนที่ผู้ทำแผนเสนอมานั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมายและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในการพิจารณาปัญหาว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้แต่ละรายซึ่งมิได้ลงมติยอมรับแผนจะได้รับในการฟื้นฟูกิจการ กับจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะได้รับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวนี้การที่ทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีราคาประเมินเพียงใด จึงเป็นสาระสำคัญ
คดีนี้ผู้ร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ระบุในคำร้องขอว่า ลูกหนี้มีสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่ดินพร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้างในโครงการต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด มูลค่า 3,809,815,326.50 บาท สังหาริมทรัพย์ได้แก่หลักทรัพย์ 192,999 บาท เงินฝากธนาคารประเภทมีเงื่อนไข 439,472.63 บาท เงินสด 43,345.89 บาท และทรัพย์สินอื่น ๆ 349,703,246.78 บาท ซึ่งรวมแล้วเป็นเงิน 4,160,194,390.80 บาท และในคำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ระบุว่านายธีระพันธ์ เพ็ชรสุวรรณ พยานผู้ร้องขอเบิกความว่า ลูกหนี้มีสินทรัพย์ประมาณ 4,160,000,000 บาท ลูกหนี้มีนายปัญญา สุวรรณไพรพัฒนะ ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินราคาประเมินรวม 4,366,912,000 บาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวคำนวณมูลค่าตามราคาตลาดเป็นเงิน 9,469,250,000 บาท และนางพันธุ์ทิพย์ ศรีสุรินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินราคาของบริษัทไทยประเมินราคาไวเกอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์สินของลูกหนี้ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 4,366,908,000 บาท เช่นี้ ในชั้นไต่สวนคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงรับฟังได้ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินราคาประเมินไม่น้อยกว่า 4,000,000,000 บาท แต่ปรากฏว่าในขั้นตอนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ทำแผนได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยให้บริษัทชาเตอร์ พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ประเมินราคา ปรากฏว่าทรัพย์สินของลูกหนี้มีราคาตลาดเพียง 2,125,283,000 บาท แม้ว่าการกำหนดหรือวินิจฉัยราคาประเมินทรัพย์สินของลูกหนี้แต่ละช่วงจะไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาในช่วงอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อมีการประเมินราคาทรัพย์สินโดยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ราคาประเมินย่อมแตกต่างกันได้ แต่ในคดีนี้มีการประเมินตีราคาทรัพย์สินในเวลาที่ต่างกันเพียงประมาณ 5 ถึง 6 เดือน ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็เป็นที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในการประเมินมีราคาแตกต่างกันถึงประมาณ 2,000,000,000 บาท กรณีจึงต้องมีเหตุอันสมควรและอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ทำแผนก็มิได้แสดงถึงเหตุดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง การประเมินราคาครั้งหลังเพื่อจัดทำแผนจึงไม่มีน้ำหนัก เมื่อมีการประเมินราคาทรัพย์สินต่ำลงมาก ย่อมทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ส่วนใหญ่จะต้องนำไปชำระตีใช้หนี้แก่เจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีผู้ร้องขอเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในราคาต่ำ หนี้ลดลงเพียงจำนวนน้อย หนี้ส่วนที่ขาดอยู่ย่อมมีจำนวนที่สูงขึ้น เมื่อนำหนี้ส่วนที่ไม่มีประกันส่วนนี้ไปจัดสรรเพื่อชำระหนี้ย่อมส่งผลให้เจ้าหนี้อื่น ๆ ได้รับชำระหนี้น้อยลง เจ้าหนี้อื่นย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการตีราคาทรัพย์สิน นอกจากนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ หน้า 10 ระบุเพียงว่าผู้ร้องจะขอปลอดจำนองที่ดินตามเอกสารหมายเลข 5 ซึ่งมีราคาประเมิน 122.7 ล้านบาท เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ต่อไป ซึ่งที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะกง และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่ปรากฏว่าจะมีการดำเนินการพัฒนาธุรกิจของลูกหนี้จากสินทรัพย์ที่เหลืออย่างไร อันจะทำให้ลูกหนี้สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามแผน
นอกจากนี้คดีปรากฏว่าในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ซึ่งมีเจ้าหนี้เพียง 1 ราย คือผู้ร้องขอ ซึ่งผู้ร้องขอยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวน 3,706 ล้านบาท แผนได้จัดให้ผู้ร้องขอเป็นเจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มที่ 1 จำนวน 3,014 ล้านบาท และจัดให้เป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มที่ 6 จำนวน 692 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ามูลค่าหลักประกันมีการประเมินในการจัดทำแผนเพียง 1,662 ล้านบาท (โดยรวมหลักประกันของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 ด้วย) หนี้ส่วนไม่มีหลักประกันย่อมอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่น การที่ผู้ทำแผนจัดให้หนี้ของเจ้าหนี้รายผู้ร้องขออยู่ในกลุ่มที่ 1 จำนวนถึง 3,014 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่ไม่มีประกันอีกจำนวนมาก เป็นจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 1,330 ล้านบาท แต่ผู้ทำแผนได้จัดให้หนี้ส่วนนี้อยู่ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากเจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่น ทั้ง ๆ ที่หนี้ส่วนที่ขาดจำนวนดังกล่าวจะต้องอยู่ในฐานะเดียวกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่น ผู้ทำแผนจะจัดสรรให้เจ้าหนี้มีประกันในส่วนที่ไม่มีหลักประกันได้รับการชำระหนี้แตกต่างจากเจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่นก็ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรและเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ การที่แผนกำหนดให้หนี้ของผู้ร้องขอส่วนที่ไม่มีประกันได้รับการชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน ชำระหนี้ด้วยหุ้นที่ออกใหม่ภายหลังที่มีการลดทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วโดยลดจำนวนหุ้นสามัญในอัตราส่วน 100 หุ้น ลงเหลือ 1 หุ้น แล้ว ซึ่งตามแผนจะมีการออกหุ้นตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อชำระหนี้ตีราคาหุ้นละ 3 บาท แตกต่างจากเจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่น เช่นนี้ หากมีการตีราคาทรัพย์สินสูงขึ้นตามราคาที่ควรจะเป็นจำนวนหนี้ของผู้ร้องขอในส่วนที่ไม่มีหลักประกันย่อมน้อยลงซึ่งจะส่งผลให้หนี้ที่ไม่มีประกันของผู้ร้องขอในคดีนี้น้อยลงตามไปด้วย ส่วนแบ่งของเจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่นย่อมสูงขึ้นไปด้วย เมื่อมีเหตุข้อสงสัยเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งใช้ในการจัดทำแผน ถือได้ว่าพยานหลักฐานที่ปรากฏผู้ทำแผนยังแสดงไม่ได้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 (3)
เมื่อฟังไม่ได้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งมีพฤติการณ์แสดงว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดทำขึ้นโดยมุ่งแต่ประโยชน์ของผู้ร้องขอ ไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่น การที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้อื่นในอันที่จะได้รับชำระหนี้อย่างน้อยเท่ากับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกหนี้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ ๑ ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม

Share