คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489มาตรา 9 บัญญัติให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้จ่ายสินบนหรือรางวัลได้โดยให้จ่ายราคาของกลางหรือค่าปรับแตกต่างกับพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 30 ซึ่งบัญญัติให้ผู้มีความผิดเป็นผู้เสียเงินค่าสินบนนำจับ มิได้ให้อำนาจพนักงานอัยการขอแทนได้พนักงานอัยการหรือรัฐบาลไม่มีสิทธิในเงินสินบนนั้น และพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 ได้บัญญัติทับพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดในเรื่องเงินสินบนนำจับนั้นแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะขอเงินสินบนนำจับแทนได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่1043/2492 และ 1933/2492)
จำเลยกระทำความผิดฐานไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บสิ่งของที่ประกาศควบคุม เมื่อของกลางมิใช่สิ่งของที่ห้ามการค้ากำไรเกินควรจึงริบสิ่งของนั้นตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 29 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีสิ่งของไว้ในความครอบครองอันเป็นสินค้าที่คณะกรรมการกลางป้องกันการค้ากำไรเกินควรประกาศแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ จำเลยทราบดีแล้วไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและประกาศคณะกรรมการกลางป้องกันการค้ากำไรเกินควรผู้แจ้งความนำจับนำเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมกับของกลาง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 8, 12, 17, 24 (ศาลชั้นต้นปรับบทมาตรา 12 และ 24 เกินมา) ให้ลงโทษตามมาตรา 17 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกและปรับ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอไว้ของกลางไม่ใช่ของอันจะพึงริบตามมาตรา 29 ของพระราชบัญญัตินี้เพราะไม่ใช่สิ่งของที่เกี่ยวกับการกระทำผิด จึงไม่ริบ ตามนัยฎีกาที่ 201/2493 ส่วนคำขอที่สั่งให้จ่ายเงินสินบนให้แก่ผู้แจ้งความนำจับนั้น โจทก์ไม่มีอำนาจขอได้ตามนัยฎีกาที่ 1043/2492

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

คดีมีปัญหาว่า พนักงานอัยการโจทก์จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพุทธศักราช 2489 ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยเสียเงินค่าสินบนนำจับตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 30 ได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พุทธศักราช 2489 มาตรา 9 บัญญัติให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้จ่ายสินบนหรือรางวัลได้เฉพาะในกรณีที่ขอตามมาตรา 8 โดยให้จ่ายจากราคาของกลางหรือค่าปรับ แตกต่างกับมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรพ.ศ. 2490 ซึ่งบัญญัติให้ผู้มีความผิดเป็นผู้เสียค่าสินบนนำจับมิได้ให้อำนาจโจทก์ขอแทนได้ และโจทก์หรือรัฐบาลไม่มีสิทธิในเงินสินบนนั้น และพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 ได้บัญญัติทับพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดในเรื่องเงินสินบนนำจับนั้นแล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะขอเงินสินบนนำจับแทนได้ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1043/2492 คดีระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นางซิวเอ็ง แซ่คู จำเลยและคำพิพากษาฎีกาซึ่งได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ที่ 1933/2492 คดีระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นางจันทร์ สุขรัตน์จำเลย

โจทก์ฎีกาว่าศาลมีอำนาจริบของกลางในคดีนี้ได้เพราะเป็นสิ่งของที่ห้ามการค้ากำไรเกินควรซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความผิดตามความหมายของพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 29 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีของจำเลยคดีนี้เป็นความผิดฐานไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บสิ่งของที่ประกาศควบคุมของกลางมิใช้ของที่ห้ามการค้ากำไรเกินควรจึงริบไม่ได้ตามมาตรา 29 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share