แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นที่ทำประโยชน์แล้ว จนเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำใบไต่สวนและทำโฉนดแล้วพร้อมที่จะมอบให้เจ้าของที่เดิม ซึ่งได้ร้องขอออกโฉนดไว้ หากแต่เจ้าของที่เดิมไม่ไปรับใบไต่สวนและโฉนดจนเกิน 10 ปี เจ้าพนักงานจึงได้สั่งทำลายเสีย ที่พิพาทจึงไม่มีใบไต่สวนและไม่มีโฉนด ครั้นที่พิพาทตกมาเป็นของจำเลย โดยเจ้าของเดิมที่ว่านั้นยกให้จำเลย ๆ ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์มา จำเลยร้องขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิ ศาลก็สั่งแสดงว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาท ที่พิพาทจึงเป็นที่ดินที่อยู่ในความหมายของ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 6 คือ เป็นที่ดินที่อยู่ในประเภทที่ดินซึ่งเจ้าของมีสิทธิขอรับโฉนดที่ดินตามบทแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เวลาจะโอนขายไม่ต้องให้นายอำเภอรับรองว่า ได้ทำประโยชน์แล้ว การจดทะเบียนสิทธิและการทำนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทรายนี้ ปลัดอำเภอเป็นผู้ทำแทนนายอำเภอ ย่อมเป็นการทำที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71 (2)
ย่อยาว
คดีนี้ เนื่องมาจากศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยเงินแก่โจทก์ตามสัญญายอมจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์นำยึดที่ดินที่ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง โดยอ้างว่าเป็นจำเลยเพื่อขายทอดตลาดและเอาเงินชำระหนี้
ผู้ร้องขัดทรัพย์ว่า ที่รายนี้ เป็นของผู้ร้อง โดยจำเลยขายให้ผู้ร้อง ๆ ได้ครอบครองที่รายนี้มา ขอให้ศาลสั่งถอนการยึด
โจทก์ให้การ ว่าที่รายนี้ เป็นของจำเลยตามคำสั่งศาลหากมีการขาย ผู้ร้องกับจำเลยก็ทำโดยไม่สุจริต เพื่อป้องกันมิให้โจทก์ บังคับชำระหนี้จากที่รายนี้ การโอนกรรมสิทธิ์ต้องกระทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินหรือผู้ทำการแทน นายอำเภอพระโขนงไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่ดินที่รายนี้ยังไม่มีคำรับรองจากนายอำเภอว่าทำประโยชน์แล้ว จึงโอนไม่ได้ การโอนไม่ชอบ ผู้ร้องกับจำเลยสมคบกันกระทำการฉ้อฉลโจทก์ เพราะผู้ร้องกับจำเลยว่าเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ให้โจทก์ถอนการยื่น
โจทก์ฎีกา
คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกา ๒ ข้อ
(๑) โจทก์เถียงว่า ที่พิพาทยังไม่มีคำรับรองของนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว จึงโอนไม่ได้ตาม มาตรา ๘, ๙ แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และการจดทะเบียนโอนซื้อขายที่พิพาทนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ใช่นายอำเภอหรือผู้รักษาการแทน ทางพิจารณาฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นที่ทำประโยชน์แล้วจนเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำใบไต่สวนและทำโฉนดแล้ว พร้อมที่จะมอบให้โต๊ะปูเจ้าที่เดิมซึ่งได้ร้องขอออกโฉนดไว้ หากแต่โต๊ะปูไม่ไปรับใบไต่สวนและโฉนดจนเกิด ๑๐ ปี เจ้าพนักงานจึงได้สั่งทำลายเสีย ที่พิพาทจึงไม่มีใบไต่สวนและไม่มีโฉนดครั้นที่พิพาทตกมาเป็นของจำเลยโดยโต๊ะปูยกให้จำเลย จำเลยก็ได้ครอบครองทำประโยชน์มา จำเลยร้องขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิ ศาลก็สั่งแสดงว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่พิพาทที่พิพาทเป็นที่ดิน อยู่ในความหมายของ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๘๗ มาตรา ๖ คือ เป็นที่ดินที่อยู่ในความหมายของ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๖ คือ เป็นที่ดินที่อยู่ในประเภทที่ดิน ซึ่งเจ้าของมีสิทธิขอรับโฉนด ที่ดินตามบทแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เวลาจะโอนขายไม่ต้องให้นายอำเภอรับรองว่าได้ทำประโยชน์แล้ว
การจดทะเบียนสิทธิและการทำนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทรายนี้ ปลัดอำเภอพระโขนงเป็นผู้ทำแทนนายอำเภอ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๑ (๒)
(๒) ที่ว่าผู้ร้องรับโอนที่พิพาทจากจำเลยโดยรู้ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบให้พอฟังได้เช่นนั้น
ศาลฎีกาพิพากษายืน