แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
(ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยพรากพาหญิงไปเสียจากบิดามารดาด้วยเจตนาจะอยู่กินเป็นสามีภรรยากับผู้เสียหายโดยสุจริต)
เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยพรากพาผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงมีอายุไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดาด้วยเจตนาเพื่ออยู่กินเป็นสามีภรรยากับผู้เสียหายโดยสุจริต แม้ผู้เสียหายจะสมัครใจไปกับจำเลย ก็เป็นการพรากพาไปเพื่อการอนาจาร เป็นความผิดตามมาตรา 319 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจร่วมกันพรากและพานางสาวบุตร อายุ ๑๗ ปี ไปเสียจากนายถนอม นางสมใจบิดามารดา โดยจำเลยร่วมกันใช้อุบายหลอกลวงนางสาวบุตรให้ไปซื้อปลากระป๋องมาทำกับแกล้มสุรา นางสาวบุตรหลงเชื่อได้ลงเรือไปกับนายสายหยุดจำเลย แล้วจำเลยได้บังอาจร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายฉุดคร่าจับปล้ำพานางสาวบุตรไปเพื่อการอนาจาร เหตุเกิดที่ตำบลตลิ่งชัน อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔, ๓๑๘
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลอาญาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นางสาวบุตรลงเรือมากับนายสายหยุดจำเลยโดยสมัครใจ เพื่อหนีตามนายสอาดจำเลยไปฉันชู้สาว มิได้หลงเชื่อในอุบายหลอกลวง นางสาวบุตรมิได้ถูกจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายฉุดคร่าพาไป จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔, ๓๑๘ แต่นางสาวบุตรอายุยังไม่เกิน ๑๘ ปี การที่นายสอาดจำเลยพรากพาไป แม้นางสาวบุตรจะเต็มใจไปด้วย ก็เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ นายอั้นและนายสายหยุดจำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดของนายสอาดจำเลย แม้โจทก์จะไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๙ มาด้วย แต่เห็นว่าเป็นความผิดในหมวดเดียวกัน และมีอัตราโทษเบากว่ามาตรา ๓๑๘ ศาลมีอำนาจลงโทษตามมาตรา ๓๑๙ ได้ พิพากษาว่านายสอาด จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ จำคุก ๖ เดือน นายอั้น นายสายหยุดจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๑๙ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ จำคุกคนละ ๓ เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า นางสาวบุตรสมัครใจตามจำเลยที่ ๑ ไปด้วยความรักใคร่พอใจจะไปอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ไม่ได้ถูกจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายฉุดคร่าปล้ำพาไป จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๔, ๓๑๘ และเห็นว่าจำเลยพานางสาวบุตรผู้เสียหายไปด้วยความรักใคร่ ไม่ได้ความว่าพาไปเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารโดยทุจริตแต่ประการใด จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามมาตรา ๓๑๙ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาว่า การที่จำเลยพานางสาวบุตรผู้เสียหายไปด้วยความรักใคร่ฉันชู้สาว เป็นการพรากพาไปเพื่อการอนาจารหรือไม่ ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๓/๒๔๘๕ คดีระหว่างอัยการร้อยเอ็ดโจทก์ นายทองมาก สุวภานิช จำเลย ตัดสินไว้ว่า จำเลยกับนางสาวประดิษฐ์มีความรักใคร่กัน แล้วพากันไปอยู่กันเป็นสามีภรรยาโดยสุจริต จำเลยไม่มีความผิด ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๓/๒๔๘๕ ปรากฏว่าจำเลยพานางสาวประดิษฐ์ไปอยู่ด้วยกัน ๑๑ เดือนกับ ๑๑ วัน แต่คดีนี้จำเลยที่ ๑ พานางสาวบุตรไปเสียจากบิดามารดาได้คืนเดียว ผู้เสียหายก็หนีไปอยู่ที่อื่น เพราะทราบว่าจำเลยที่ ๑ เป็นคนมีภรรยาแล้ว จำเลยเบิกความชั้นศาลว่า มีภรรยาชื่อนางแก้ว มีบุตรด้วยกัน ๒ คน นางแก้วเสียชีวิตมาได้ ๓ ปีแล้ว แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ ๑ ให้การว่ามีภรรยา ๒ คน คนแรกชื่อนางแก้ว นางแก้วตาย จำเลยที่ ๑ ได้นางฉลองเป็นภรรยา จำเลยที่ ๑ มีบุตรกับนางแก้วคนหนึ่ง มีบุตรกับนางฉลองคนหนึ่ง ขณะนี้ก็ยังอยู่กินกับนางฉลอง การที่จำเลยที่ ๑ มีภรรยาเป็นตัวตนอยู่แล้ว กลับคิดพาหญิงสาวอื่นไปอีกเช่นนี้ ยากที่จะฟังว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาจะเลี้ยงดูนางสาวบุตรฉันสามีภรรยา จำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายพูดชวนนางสาวบุตรให้ไปกับจำเลย ครั้นนางสาวบุตรบอกให้จำเลยที่ ๑ ไปสู่ขอกับพ่อแม่ จำเลยที่ ๑ กลับบ่ายเบี่ยงว่ายากจนไม่มีเงินไปสู่ขอ ถ้ารักกันจริงก็ให้ไปด้วยกัน นางสาวบุตรก็ลงเรือไปกับจำเลยที่ ๑ นางสาวบุตรน่าจะไม่รู้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นคนมีภรรยาแล้ว นางสาวบุตรสมัครใจไปอยู่กินกับจำเลยที่ ๑ นั้น เป็นความสมัครใจของนางสาวบุตรฝ่ายเดียวโดยไม่รู้ข้อความจริง การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการพานางสาวบุตรไปเพื่อการอนาจาร จำเลยต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น