คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นนิติบุคคลเป็นส่วนราชการซึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงศึกษาธิการจำเลยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของจำเลย ดังนั้น การกระทำของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติก็เสมือนเป็นตัวแทนของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในการกระทำละเมิดของครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้ โดยไม่จำต้องเรียกสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติมาเป็นจำเลยร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชายสุทธิพงษ์ แซ่ตัง ผู้ตาย จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทกระทรวงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน และจำเลยเป็นเจ้าของโรงเรียนบ้านหนองนกเขา ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอห้วยแถลง สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และจำเลยตามลำดับ ก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด สายไฟฟ้าในตัวอาคารเยนของโรงเรียนบ้านหนองนกเขาหล่นลงมากองที่พื้นชั้นล่าง แต่ไม่ได้ขาดออกจากสายไฟฟ้าหลักของโรงเรียนจึงยังมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ ข้าราชการในโรงเรียนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลย ได้แก่ นายไสว ตลับไธสง อาจารย์ใหญ่ ครูและนักการภารโรงทุกคนมีหน้าที่ดูแลรักษาอาคารเรียน ต่างเห็นและทราบถึงความชำรุดบกพร่องของสายไฟฟ้าแล้ว แต่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่จัดการซ่อมแซมบำรุงรักษาสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม หรือตัดกระแสไฟฟ้าออกจากสายไฟฟ้าที่ชำรุดคงปล่อยให้สายไฟฟ้ากองอยู่ที่พื้นอาคารเรียน ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ถึง 11 นาฬิกา ขณะโรงเรียนเปิดทำการสอนตามปกติเกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขังพื้นอาคารเรียนชั้นล่างและท่วมสายไฟฟ้าดังกล่าว นายศักดิ์ระพี ศรีภิรมย์ ครูประจำชั้นของผู้ตายใช้ให้ผู้ตายกับเพื่อนนักเรียนหลายคนออกไปช่วยกันทำความสะอาดโอ่งน้ำที่ตั้งอยู่ใต้อาคารเรียนใกล้บริเวณสายไฟฟ้าที่ชำรุด ขณะผู้ตายเดินไปเอาถังน้ำผ่านบริเวณน้ำท่วมขังซึ่งมีสายไฟฟ้าชำรุดและมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ดังกล่าว ได้ถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตายทันที อันเป็นเพราะอาคารเรียนของโรงเรียนชำรุดบกพร่อง หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของจำเลยคือ อาจารย์ใหญ่ ครู และนักการภารโรงของโรงเรียน จำเลยในฐานะเจ้าของอาคารเรียนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์เสียค่าใช้จ่ายปลงศพผู้ตายจำนวน 40,000 บาท ขณะถึงแก่ความตาย ผู้ตายเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อีกประมาณ 11 ปี จะเรียนจบปริญญาตรีสามารถทำงานหาเงินมาอุปการะโจทก์ได้ ซึ่งอีก 11 ปี โจทก์จะมีอายุ 47 ปี ผู้ตายต้องอุปการะโจทก์เรื่อยไปจนกว่าจะถึงแก่ความตาย ซึ่งอายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงไทยในปัจจุบันคือประมาณ 69 ปี ผู้ตายต้องอุปการะโจทก์ต่อไปอีกกว่า 20 ปี โจทก์ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 5,000 บาท หรือปีละ 60,000 บาท รวม 20 ปี เป็นเงิน 1,200,000 บาท แต่ขอเรียกร้องเพียง 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,040,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในวันเกิดเหตุไม่มีสายไฟฟ้าหล่นลงมาที่พื้นอาคารเรียนชั้นล่าง โดยขณะเกิดเหตุมีการประชุมครูของโรงเรียน ครูสั่งให้เด็กนักเรียนอ่านหนังสือในห้องเรียนห้ามออกไปนอกห้อง ต่อมาเกิดฝนตกหนัก ลมพัดแรงผิดปกติ พื้นอาคารเรียนชั้นล่างมีน้ำฝนไหลนอง ผู้ตายหนีออกจากห้องเรียนโดยพลการ ถอดเสื้อ กางเกงออกเหลือเพียงกางเกงชั้นใน วิ่งออกไปเล่นน้ำฝนที่พื้นอาคารเรียนชั้นล่างในลักษณะล้มนอนลื่นไถลไปมา แต่เพราะลมฝนพัดแรงผิดปกติทำให้โครงเหล็กยึดหลอดไฟฟ้าที่เพดานชั้นล่างถูกลมพัดแกว่งไปมา แล้วหลุดหล่นลงที่พื้น สายไฟพาดทับตัวผู้ตายซึ่งกำลังเล่นน้ำฝน ทำให้ผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ไม่มีครูคนใดใช้ให้ผู้ตายออกไปทำความสะอาดโอ่งน้ำของโรงเรียนเพื่อรองน้ำฝน เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัยที่คณะครูของโรงเรียนไม่อาจป้องกันได้ ไม่ใช่เหตุชำรุดบกพร่องของอาคารเรียนหรือการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของคณะครูและนักการภารโรง สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติที่โรงเรียนบ้านหนองนกเขาสังกัดนั้นมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 7 โดยเป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น มีฐานะเป็นกรมในสังกัดของจำเลยตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2538 จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ มีผู้บริหารและมีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายของตนเอง สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติมีเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นผู้บริหาร ส่วนจำเลยมีรัฐมนตรีว่าการเป็นผู้บริหาร แต่โจทก์กลับฟ้องจำเลยเพียงผู้เดียว ไม่ได้ฟ้องสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบการปฏิบัติราชการของโรงเรียนบ้านหนองนกเขาอันถือเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรงเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 พฤษภาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โรงเรียนบ้านหนองนกเขาเป็นส่วนราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากจำเลย สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ มิใช่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ในวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 หมวด 11 กระทรวงศึกษาธิการ มาตรา 25 บัญญัติว่า กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม และมาตรา 26 บัญญัติว่า กระทรวงศึกษาธิการมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้ (11) สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หมวด 2 การจัดระเบียบราชการในกระทรวงหรือทบวง มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้จัดระเบียบราชการของกระทรวง ดังนี้ (3) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น… วรรคสอง บัญญัติว่า ให้…ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นตาม (3) มีฐานะเป็นกรม และหมวด 4 การจัดระเบียบราชการในกรม มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้กรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวงหรือทบวง ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรม หรือตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกรมนั้น จากบทกฎหมายที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการซึ่งขึ้นตรงต่อจำเลย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของจำเลย ดังนั้น การกระทำของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติก็เสมือนเป็นตัวแทนของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่จำต้องฟ้องเรียกสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติมาเป็นจำเลยร่วม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุมีฝนตกหนักและพายุพัดแรง ผู้ตายได้วิ่งออกไปเล่นน้ำฝน เนื่องจากพายุพัดแรงเป็นเหตุให้โป๊ะไฟหล่นจากเพดาน ไฟฟ้าจึงช็อตผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเกิดจากเหตุสุดวิสัย ปัญหาดังกล่าว โจทก์มีนายเดี่ยว สุระศรี มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานเคยเล่นกีฬาฟุตบอลกับเพื่อนและเคยเตะลูกฟุตบอลไปโดนแผงหลอดไฟฟ้านีออนตกลงมารวมทั้งสายไฟฟ้า ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ภาพแรก ทางโรงเรียนบ้านหนองนกเขาให้พยานชดใช้เงิน 75 บาท พยานได้ชดใช้เงินให้แก่ทางโรงเรียนไปแล้ว แต่เห็นว่ายังไม่มีการซ่อมแซม และมีเด็กชายสังเวียน สัตย์รัมย์ มาเบิกความสนับสนุนอีกว่า ในวันเกิดเหตุฝนตกหนัก พยานพร้อมเพื่อนนักเรียนอีก 13 คน ออกไปรองน้ำฝนข้างอาคารโรงเรียน เห็นแผงไฟฟ้าหล่นอยู่ที่พื้นเนื่องจากมีคนเตะลูกฟุตบอลไปถูก แผงไฟฟ้านี้ ก็คือแผงไฟฟ้าที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ยังมีนายวัฒนา พานไธสง และนายพรภิรมย์ แสงจันทึก ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกันกับเด็กชายสังเวียนและผู้ตาย เบิกความสนับสนุน นายไสว ตลับไธสง ซึ่งเป็นอาจารใหญ่โรงเรียนบ้านหนองนกเขาพยานจำเลย เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า เคยมีเหตุการณ์นักเรียนเตะลูกฟุตบอลถูงแผงไฟฟ้าหลุดจากเพดาน และนายไสวถูกศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีอาญาว่า มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้คนตายเนื่องจากไม่ดูแลแผงไฟฟ้าที่หลุดจากเพดาน คดีถึงที่สุดแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์มีนายเดี่ยวที่เตะลูกฟุตบอลถูกโคมไฟฟ้าและสายไฟฟ้าตกลงมาเป็นพยาน แม้ว่าพยานปากนี้ไม่ระบุว่า เป็นโคมไฟฟ้าและสายไฟฟ้าที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ แต่ก็มีพยานปากอื่นอีก 3 ปาก คือเด็กชายสังเวียน นายวัฒนา และนายพรภิรมย์ มาเบิกความยืนยันทำนองเดียวกันว่าโคมไฟฟ้าและสายไฟฟ้าที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็คือ โคมไฟฟ้าและสายไฟฟ้าที่มีนักเรียนเตะลูกฟุตบอลไปถูกแล้วตกลงมา แม้ว่าพยาน 3 ปากดังกล่าวจะเคยให้การต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่า ไม่เคยเห็นแผงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าตกลงมา แต่พยานทั้งสามปากก็เบิกความถึงเหตุผลที่ให้การดังกล่าวว่าเกิดจากการข่มขู่ของครูในโรงเรยน แต่ขณะเบิกความที่กล้าเบิกความตามความจริงก็เพราะพยานเหล่านั้นได้จบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านหนองนกเขาแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง ส่วนพยานจำเลยนั้น มีนายไสว ตลับไธสง ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านหนองนกเขาเบิกความยืนยันว่าแผงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าเพิ่งตกลงมาในวันเกิดเหตุ แต่พยานปากนี้ก็ได้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษว่ามีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเนื่องจากไม่ดูแลซ่อมแซมแผงไฟฟ้าและสายไฟที่ตกลงมา ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย จ.5 และมีพยานอื่นอีก 6 ปาก ซึ่งเบิกความลอย ๆ ว่า แผงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าตกลงมาในวันเกิดเหตุ และอ้างบันทึกการสอบสวนนายสังเวียน สัตย์รัมย์ นายวัฒนา พานไธสง และนายพรภิรมย์ แสงจันทึก ที่พยาน 2 ปากแรกเคยให้การว่า แผงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าไม่เคยตกลงมา ส่วนพยานปากหลังเบิกความว่าไม่เคยให้การดังกล่าว ซึ่งพยาน 2 ปากแรกก็เบิกความว่า ถูกบังคับให้ให้การดังกล่าว เมื่อจำเลยนำนายธีรพงศ์ ปุ๊กสันเทียะ ซึ่งเป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเป็นผู้สอบพยานดังกล่าวมาเบิกความ นายธีรพงศ์ก็ไม่ได้ยืนยันว่านายธีรพงศ์ไม่ได้ข่มขู่ หรือบอกให้พยานให้การด้วยความสัตย์จริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แผงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าได้หล่นลงมาก่อนวันเกิดเหตุ นายไสว ตลับไธสง ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านหนองนกเขา และมีหน้าที่ดูแลมิได้ใช้ความระมัดระวัง ซ่อมแซมดูแลแผงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย จึงเป็นความประมาทเลินเล่อ และเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share