แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 แต่สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ระบุว่า “ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย..สูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว… และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบ…” หมายความว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังไม่ได้ชำระตามสัญญาจนครบ โดยไม่ได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเป็นงวด ๆ เหมือนกรณีที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อไม่ถูกโจรภัยหรือไม่สูญหาย อันมีลักษณะกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่เป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายและศาลมีอำนาจลดหย่อนลงได้หากเห็นว่ากำหนดไว้สูงเกินควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป และโจทก์ไม่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมา จึงมิใช่เป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 กรณีไม่มีการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์กระบะเป็นเงิน322,500 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ไปแล้วรวม 7 งวด เป็นเงิน 52,500 บาท ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2535 รถยนต์ถูกลักไป จำเลยที่ 1 ไม่สามารถนำรถยนต์ไปหาประโยชน์ได้ สัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดค่าเช่าซื้อที่เหลือเป็นการกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไป โจทก์เสียหายไม่เกิน 100,000 บาท และเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป โจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ไม่ได้ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนแล้ว จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 201,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 187,500 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 และจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระต่อไปก็ตาม แต่ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ระบุความว่า”ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัย…สูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียว… และยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อจนครบ…” ซึ่งหมายความว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระราคารถยนต์ที่เช่าซื้อที่ยังไม่ได้ชำระตามสัญญาจนครบ โดยมิได้ระบุให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ดังกรณีที่ทรัพย์ที่เช่าซื้อไม่ถูกโจรภัยหรือไม่สูญหาย อันมีลักษณะกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่ จึงใช้บังคับกันได้ไม่เป็นโมฆะ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวได้ แต่ศาลมีอำนาจลดหย่อนลงได้หากเห็นว่ากำหนดไว้สูงเกินควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป และโจทก์ไม่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมา กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563ที่บังคับมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า แต่คดีนี้ไม่มีการส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อ และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ย่อมไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน