คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องและคำฟ้องอุทธรณ์ปรากฏว่าโจทก์ประกอบกิจการผลิตขนมปังเบเกอรี่ โดยนำเอาวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของขนมปังเบเกอรี่มาผ่านกระบวนการผลิตด้วยแรงงานคนและเครื่องจักร เปลี่ยนสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป คือขนมปัง เบเกอรี่ อันเป็นกระบวนการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบซึ่งเป็นงานในส่วนของโรงงานผลิตของโจทก์ โจทก์นำสินค้าสำเร็จรูปไปกำหนดราคาแสวงหากำไรจากสินค้าสำเร็จรูปนั้น เมื่อได้สินค้าสำเร็จรูปแล้วฝ่ายขายจึงนำไปแลกเปลี่ยนมาเป็นเงินตรา หากปราศจากสินค้าสำเร็จรูป พนักงานฝ่ายขายก็ไม่สามารถปฏิบัติงานขายได้ การที่พนักงานฝ่ายขายติดต่อรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าแล้วแจ้งฝ่ายโรงงานผลิต เป็นวิธีการกำหนดปริมาณการผลิตสินค้าและกำหนดจำนวนสินค้าสำเร็จรูปที่ฝ่ายโรงงานผลิตต้องจัดส่งไปให้ฝ่ายขาย กิจการฝ่ายโรงงานผลิตกับฝ่ายขายของโจทก์ต้องปฏิบัติงานต่อเนื่องกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันโดยไม่เกี่ยวข้องกันได้ ตามลักษณะการดำเนินงานกิจการของฝ่ายโรงงานผลิตจึงเป็นงานหลัก การกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ จึงมีได้เพียงรหัสเดียวตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบฯ ข้อ 5 วรรคหนึ่ง โดยอยู่ในหมวด 0200 การผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ รหัส 0203 ประเภทกิจการการผลิตเครื่องดื่ม การผลิต การถนอมอาหาร ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง ตามตาราง 1 ท้ายประกาศที่แก้ไขตามประกาศ ฉบับที่ 2 ฯ การประกอบกิจการของโจทก์ไม่ใช่การซื้อวัตถุดิบมาแล้วขายไปในสภาพวัตถุดิบ ไม่ใช่การซื้อมาขายไปโดยไม่มีการเปลี่ยนสภาพสินค้า ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของประเภทกิจการร้านสรรพสินค้าและร้านสินค้าเบ็ดเตล็ดตามที่ระบุไว้ในรหัส 1503 หมวด 1500 การค้า จึงไม่ใช่การค้าซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นตามที่ระบุไว้ในรหัส 1503 กิจการของโจทก์จึงไม่ใช่ประเภทที่อยู่ในรหัส 1503 การที่โจทก์แยกสถานที่ตั้งของฝ่ายโรงงานผลิตและสถานที่ตั้งของฝ่ายขายและฝ่ายอื่นๆ ออกจากกัน กับโจทก์ได้แยกการทำงานของแต่ละสถานที่ออกจากกัน ไม่ทำให้ลักษณะการดำเนินกิจการของฝ่ายโรงงานผลิตแยกออกโดยไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายขายและฝ่ายอื่นๆ ได้ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์เป็นรหัส 0203 ได้อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 ของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยที่ 193/2544 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการและขอให้กำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์เป็นรหัส 1503 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2 ของค่าจ้าง สำหรับส่วนฝ่ายขาย รหัส 0203 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างสำหรับส่วนฝ่ายโรงงานผลิต หากศาลเห็นว่ากิจการในส่วนฝ่ายขายและส่วนฝ่ายโรงงานผลิตเกี่ยวข้องกันก็ขอให้กำหนดให้อยู่ในรหัส 1503 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2 ของค่าจ้าง เนื่องจากผลผลิตสุดท้ายของโจทก์เป็นกิจการขายสินค้า ให้สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 1 ของจำเลยที่ 1 แก้ไขรหัสประเภทกิจการของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ดำเนินกิจการผลิตขนมปังเบเกอรี่ออกขาย เดิมทำการผลิตและจำหน่ายในสถานที่เดียวกัน พนักงานฝ่ายผลิตและฝ่ายขายปะปนกัน สำนักงานกองทุนเงินทดแทนกำหนดรหัสเป็น 0203 ประเภทกิจการการผลิตอาหารอัตราเงินสมทบร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง โจทก์จ่ายเงินสมทบอัตราร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง ตั้งแต่ปี 2525 ตลอดมา ต่อมาธุรกิจโจทก์เจริญและขยายเพิ่มขึ้นจึงแยกฝ่ายโรงงานผลิตไปตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ส่วนสำนักงานใหญ่ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายขายและฝ่ายอื่นๆ ตั้งอยู่ที่อาคารอิตัลไทยทาวเวอร์ ฝ่ายโรงงานผลิตซึ่งเป็นส่วนของการผลิตและฝ่ายขายแยกออกจากกัน ไม่ปะปนกันมาตั้งแต่ปี 2543 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอแยกรหัสประเภทกิจการ จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งว่าโจทก์ประกอบกิจการประเภทผลิตและจำหน่าย ต้องกำหนดรหัสประเภทกิจการการผลิต คงใช้รหัส 0203 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการมีคำวินิจฉัยที่ 193/2544 ยืนตามจำเลยที่ 1 ตามบัญชีเงินเดือนงวดเดือนมกราคม 2543 พนักงานฝ่ายโรงงานผลิตมี 778 คน รวมเงินเดือน 5,346,000 บาทเศษ พนักงานฝ่ายขายและฝ่ายอื่นที่อยู่ที่สำนักงานใหญ่และสาขาฝ่ายขายมี 739 คน รวมเงินเดือน 6,364,000 บาทเศษ วินิจฉัยว่า สินค้าที่โจทก์ขายมาจากโรงงานของโจทก์เป็นส่วนใหญ่ โจทก์ไม่ได้นำสินค้าจากแหล่งอื่นหรือเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาขายเช่นร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป กิจการผลิตและขายขนมปังเบเกอรี่จึงเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกัน โจทก์ประกอบกิจการผลิตและขายโดยนิติบุคคลเดียวกัน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ต่อกรมสรรพากรในฐานะธุรกิจเดียวกัน จึงต้องกำหนดรหัสประเภทกิจการเพียงรหัสเดียวเป็นประเภทกิจการการผลิต รหัส 0203 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ข้อ 5 วรรคสาม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์มีสถานที่ตั้งของฝ่ายโรงงานผลิตขนมปังเบเกอรี่อยู่คนละแห่งกับสถานที่ตั้งของฝ่ายขายและฝ่ายอื่นๆ กับโจทก์ได้แยกการทำงานของแต่ละสถานที่ออกจากกันโดยมีสินค้าขนมปังเบเกอรี่เพียงอย่างเดียว ทำให้ต้องแยกให้ฝ่ายโรงงานผลิตอยู่ในหมวด 0200 การผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ รหัส 0203 ประเภทกิจการการผลิตเครื่องดื่ม การผลิต การถนอมอาหาร ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง ฝ่ายขายและฝ่ายอื่นๆ อยู่ในหมวด 1500 การค้า รหัส 0503 ประเภทกิจการร้านสรรพสินค้า ร้านสินค้าเบ็ดเตล็ด รวมทั้งการค้าซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.2 ของค่าจ้างหรือไม่ หรือโจทก์ประกอบกิจการในการขายสินค้าซึ่งอยู่ในประเภทกิจการหมวด 1500 การค้าหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องและคำฟ้องอุทธรณ์ปรากฏว่าโจทก์ประกอบกิจการผลิตขนมปังเบเกอรี่ การผลิตขนมปังเบเกอรี่ หมายถึง การนำเอาวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของขนมปังเบเกอรี่มาผ่านกระบวนการผลิตด้วยแรงงานคนและเครื่องจักรเปลี่ยนสภาพวัตถุดิบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป คือขนมปังเบเกอรี่อันเป็นกระบวนการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบซึ่งเป็นงานในส่วนของโรงงานผลิตของโจทก์ โจทก์นำสินค้าสำเร็จรูปไปกำหนดราคาแสวงหากำไรจากสินค้าสำเร็จรูปนั้น เมื่อได้สินค้าสำเร็จรูปแล้วฝ่ายขายจึงนำไปแลกเปลี่ยนมาเป็นเงินตรา หากปราศจากสินค้าสำเร็จรูป พนักงานฝ่ายขายก็ไม่สามารถปฏิบัติงานขายได้ การที่พนักงานฝ่ายขายติดต่อรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าแล้วแจ้งฝ่ายโรงงานผลิตเป็นวิธีการกำหนดปริมาณการผลิตสินค้าและกำหนดจำนวนสินค้าสำเร็จรูปที่ฝ่ายโรงงานผลิตต้องจัดส่งไปให้ฝ่ายขาย (ปรากฏตามแถลงการณ์ปิดคดีของโจทก์ว่าฝ่ายโรงงานผลิตมีหน่วยจัดส่งสินค้าไปให้ฝ่ายขาย) ไม่ทำให้ฝ่ายขายปฏิบัติงานได้โดยไม่มีสินค้าสำเร็จรูปไปขาย กิจการฝ่ายโรงงานผลิตกับฝ่ายขายของโจทก์ต้องปฏิบัติงานต่อเนื่องกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันโดยไม่เกี่ยวข้องกันได้ ตามลักษณะการดำเนินงานที่กล่าวมากิจการของฝ่ายโรงงานผลิตจึงเป็นงานหลัก การกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์จึงมีได้เพียงรหัสเดียวตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บ เงินสมทบ ลงวันที่ 12 กันยายน 2537 ข้อ 5 วรรคหนึ่ง โดยอยู่ในหมวด 0200 การผลิตอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ รหัส 0203 ประเภทกิจการการผลิตเครื่องดื่ม การผลิต การถนอมอาหาร ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง ตามตาราง 1 ท้ายประกาศที่แก้ไขตามประกาศฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 การประกอบกิจการของโจทก์ไม่ใช่การซื้อวัตถุดิบมาแล้วขายไปในสภาพวัตถุดิบ ไม่ใช่การซื้อมาขายไปโดยไม่มีการเปลี่ยนสภาพสินค้าซึ่งเป็นลักษณะร่วมของประเภทกิจการร้านสรรพสินค้าและร้านสินค้าเบ็ดเตล็ดตามที่ระบุไว้ในรหัส 1503 หมวด 1500 การค้า จึงไม่ใช่การค้าซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นตามที่ระบุไว้ในรหัส 1503 กิจการของโจทก์จึงไม่ใช่ประเภทที่อยู่ในรหัส 1503 การที่โจทก์แยกสถานที่ตั้งของฝ่ายโรงงานผลิตและสถานที่ตั้งของฝ่ายขายและฝ่ายอื่นๆ ออกจากกัน กับโจทก์ได้แยกการทำงานของแต่ละสถานที่ออกจากกัน ไม่ทำให้ลักษณะการดำเนินกิจการของฝ่ายโรงงานผลิตแยกออกโดยไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายขายและฝ่ายอื่นๆ ได้ ที่จำเลยที่ 1 กำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ เป็นรหัส 0203 และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการวินิจฉัยยืนนั้นชอบแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ประกอบกิจการการผลิตและจำหน่ายต้องกำหนดประเภทกิจการเป็นกิจการการผลิตตามข้อ 5 วรรคสาม หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share