แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทระบุว่ากรรมการของโจทก์มี 7 คน ว. เป็นกรรมการคนที่ 4 และพ. เป็นกรรมการคนที่ 5 ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น และใน ข้อ 3 ระบุว่า กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ คือบ. ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์หรือกรรมการอื่น 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมอบอำนาจให้ อ. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทน มีพ.และว. กรรมการของโจทก์ 2 คนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์เช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่าพ.และว.มอบอำนาจให้แก่อ.ในนามของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ คดีนี้จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แต่เพียงว่าพ.และว.ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในขณะฟ้องคดีนี้ และโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจ ให้อ. ฟ้องคดีนี้เท่านั้น ฎีกาของจำเลยที่ว่า ตามหนังสือมอบอำนาจระบุว่าผู้รับมอบอำนาจคือ พ.และว. ไม่ใช่โจทก์และตราที่ประทับไว้ที่ด้านล่างของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่มีผู้ใดยืนยันว่าเป็นตราสำคัญของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับ วินิจฉัย โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเพราะยื่นเกินกำหนดเวลาและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1 กันยายน 2537 ซึ่งศาลอนุญาตให้เลื่อนมา โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมศาลชั้นต้นยกคำร้องและมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันว่า ศาลชั้นต้นไม่รับบัญชีระบุพยานโจทก์ถือว่าโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 21 ตุลาคม 2537ในวันที่ 14 กันยายน 2537 โจทก์ยื่นคำร้องว่า มิได้มีเจตนายื่นบัญชีระบุพยานเกินกำหนด แต่เนื่องจากเสมียนทนาย ไม่นำบัญชีระบุพยานไปยื่นภายในกำหนดตามที่มอบหมาย และทนายความโจทก์เพิ่งทราบเรื่องเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537เพราะศาลไม่ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของโจทก์ทั้ง 3ครั้งดังกล่าว ก็เป็นการสั่งตามที่บทบัญญัติมาตรา 88 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจไว้เป็นขั้นตอนให้ศาลใช้ดุลพินิจสั่งตามที่เห็นสมควร ดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ตามบทบัญญัติในมาตรา 88 วรรคสี่ซึ่งใช้โอกาสคู่ความขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานพร้อมกับยื่นบัญชีระบุพยานก่อน ศาลมีคำพิพากษา โดยแสดงเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นบัญชี ระบุพยานภายในกำหนดเวลาดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานลงวันที่ 11 ตุลาคม 2537 จึงเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่นั่นเอง เมื่อได้พิเคราะห์ถึงคำร้องขอระบุบัญชีพยานครั้งก่อนลงวันที่ 14 กันยายน 2537 ที่อ้างว่า ทนายความโจทก์มิได้มีเจตนายื่นบัญชีระบุพยานเกินกำหนด แต่เนื่องจากเสมียนทนายไม่นำบัญชีพยานไปยื่นภายในกำหนด และทนายความโจทก์เพิ่งทราบเรื่องในวันที่ 1 กันยายน 2537ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์เพราะศาลมีคำสั่งไม่ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ ประกอบกับคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ครั้งหลังสุดคือฉบับลงวันที่ 11 ตุลาคม 2537 ซึ่งอ้างเหตุว่าโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดเพียง 3 วัน และในวันนัดชี้สองสถานโจทก์ส่งต้นฉบับเอกสารที่จะอ้างเป็นพยานตามที่ระบุในบัญชีระบุพยานซึ่งศาลได้รับต้นฉบับเอกสารของโจทก์ไว้แล้ว ประกอบคดีนี้จำเลยยื่นคำให้การโดยมิได้ปฏิเสธหนี้ตามฟ้องโจทก์ทั้งการที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลอนุญาตนั้น ถือได้ว่าโจทก์มีเหตุอันสมควรที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดประกอบกับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้า จากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ตามกำหนดและพยานหลักฐานตามบัญชีระบุพยานที่โจทก์อ้าง และขออนุญาต ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าและการผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าของจำเลยให้แก่โจทก์อันเป็นข้อสำคัญแห่งประเด็นในคดี ดังนั้น เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญ แห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องสืบพยาน หลักฐานเช่นว่านั้น ทั้งพยานฝ่ายจำเลยก็ยังมิได้มีการนำสืบการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีระบุพยานโจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยาน และสั่งรับบัญชีระบุพยานโจทก์ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2537 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่แล้ว โจทก์มีสิทธินำพยานหลักฐานดังกล่าวเข้าสืบและศาลชั้นต้นมีอำนาจนำมารับฟังในการพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,060,839.18 บาท2,042,259.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,825,272.04 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางอุมารินทร์ เลิศชัยประเสริฐ เป็นผู้ฟ้องคดีแทนนายวีระพล ไชยธีรัตต์ และนางวนิดา ไชยธีรัตต์ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะส่งสินค้าคุณภาพต่ำมีตำหนิ ชำรุดและมีปริมาณน้อยกว่าที่ระบุในใบส่งของจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง หากจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เป็นเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,042,259.67 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน1,825,272.04 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่าตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรปราการเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ระบุว่ากรรมการของโจทก์มี 7 คน นางสาววนิดา ไชยธีรัตต์ เป็นกรรมการคนที่ 4 และนายวีระพล ไชยธีรัตต์ เป็นกรรมการคนที่ 5 ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นและใน ข้อ 3 ระบุว่ากรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ คือนายบุญชัย ไชยธีรัตต์ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์หรือกรรมการอื่น2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2ซึ่งมอบอำนาจให้นางอุมารินทร์ เลิศชัยประเสริฐ เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทน มีนายวีระพล ไชยธีรัตต์ และนางวนิดา ไชยธีรัตต์ กรรมการของโจทก์ 2 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ เช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่านายวีระพลและนางวนิดามอบอำนาจให้แก่นางอุมารินทร์ในนามของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่จำเลยฎีกาว่าตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าผู้มอบอำนาจคือนายวีระพลและนางวนิดา ไม่ใช่โจทก์ และตราที่ประทับไว้ที่ด้านล่างของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็ไม่มีผู้ใดยืนยันว่าเป็นตราสำคัญของโจทก์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียนนั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้แต่เพียงว่านายวีระพลและนางวนิดาไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในขณะฟ้องคดีนี้และโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางอุมารินทร์ฟ้องคดีนี้เท่านั้น ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาของจำเลยดังกล่าว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานและสั่งรับบัญชีระบุพยานของโจทก์ตามคำร้องและบัญชีระบุพยานลงวันที่11 ตุลาคม 2537 เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ คดีนี้ ได้ความว่าศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานในวันที่ 12 พฤษภาคม 2537 โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกในวันที่ 29 เมษายน 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดและไม่แจ้งเหตุขัดข้องจึงไม่รับ และในวันที่ 29 เมษายน 2537 โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอส่งสำเนาเอกสารตามบัญชีระบุพยานต่อศาล 1 ชุด และต่อคู่ความอีกฝ่าย1 ชุด ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้คู่ความอีกฝ่ายรับไปและเก็บไว้1 ชุด เมื่อถึงวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นข้อพิพาทและให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อน โดยโจทก์และจำเลยต่างขอยื่นต้นฉบับเอกสารที่อ้างต่อศาลในวันเดียวกัน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเอกสารดังกล่าวไว้แล้ว ครั้นถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2537ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายความโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาล อ้างเหตุว่ามีกิจจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์วันที่ 1 กันยายน 2537 ครั้นถึงวันนัดโจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานโจทก์ครั้งแรก ถือว่าโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ไม่มีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ทั้งโจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนด จึงไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมให้ยกคำร้อง และศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่1 กันยายน 2537 ว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานโจทก์ถือว่าโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 21 ตุลาคม 2537 ครั้นวันที่14 กันยายน 2537 โจทก์ยื่นคำร้องว่า ทนายความโจทก์มิได้มีเจตนายื่นบัญชีระบุพยานเกินกำหนด แต่เนื่องจากนายสุทัศน์ ปรีชาวรเวชเสมียนทนายไม่นำบัญชีระบุพยานไปยื่นในวันที่ 26 เมษายน 2537ตามที่ทนายความโจทก์มอบหมาย และทนายความโจทก์เพิ่งทราบเรื่องเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 เพราะศาลมีคำสั่งไม่ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและรับบัญชีระบุพยานโจทก์ซึ่งแนบมาพร้อมคำร้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2537 โจทก์ยื่นคำร้องอีกว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกล่วงเลยเวลาตามที่กฎหมายกำหนดเพียง 3 วันในวันนัดชี้สองสถานโจทก์ส่งต้นฉบับเอกสารที่จะอ้างเป็นพยานตามที่ระบุในบัญชีระบุพยาน ซึ่งศาลได้รับต้นฉบับเอกสารของโจทก์ไว้แล้ว ประกอบกับคดีนี้จำเลยยื่นคำให้การโดยมิได้ปฏิเสธหนี้ตามฟ้องโจทก์ทั้งการที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานตามที่แนบมากับคำร้อง และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์หนี้ตามคำฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งว่าสำเนาให้จำเลยจะสั่งในวันนัด ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 21 ตุลาคม 2537 ทนายความจำเลยแถลงคัดค้านว่าตามคำร้องโจทก์ไม่มีเหตุตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วคำร้องมีเหตุอันสมควร ทั้งจำเลยให้การรับว่าทำสัญญากับโจทก์ แต่อ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ประกอบกับยังไม่มีการสืบพยานเห็นว่าไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญในประเด็นแห่งคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานได้และนัดสืบพยานโจทก์ซึ่งจำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้ว เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จะบัญญัติกำหนดระยะเวลาการยื่นบัญชีระบุพยานไว้ชัดแจ้งว่า “ในกรณีที่มีการชี้สองสถานเมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่หรืออ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้ง เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ซึ่งบัญชีระบุพยาน ฯลฯ พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาตามวรรคหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน” ก็ตามแต่มาตรา 88 วรรคสี่ ก็ได้บัญญัติยกเว้นไว้ว่า “เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้วแต่กรณีได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้วมีเหตุอันสมควร แสดงได้ว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด หรือถ้าคู่ความฝ่ายใด ซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดีและถ้าศาลเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง” คดีนี้ โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ เพราะยื่นเกินกำหนดเวลาและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1 กันยายน 2537ซึ่งศาลอนุญาตให้เลื่อนมา โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมศาลชั้นต้นยกคำร้องและมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันว่า ศาลชั้นต้นไม่รับบัญชีระบุพยานโจทก์ ถือว่าโจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ ให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 21 ตุลาคม 2537 ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 14 กันยายน 2537 โจทก์ยื่นคำร้องว่า มิได้มีเจตนายื่นบัญชีระบุพยานเกินกำหนด แต่เนื่องจากนายสุทัศน์เสมียนทนายไม่นำบัญชีระบุพยานไปยื่นภายในกำหนดตามที่มอบหมาย และทนายความโจทก์เพิ่งทราบเรื่องเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537เพราะศาลไม่ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของโจทก์ทั้ง 3ครั้งดังกล่าว ก็เป็นการสั่งตามที่บทบัญญัติมาตรา 88 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้อำนาจไว้เป็นขั้นตอนให้ศาลใช้ดุลพินิจสั่งตามที่เห็นสมควรดังนั้น แม้ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้วก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ตามบทบัญญัติในมาตรา 88 วรรคสี่ ซึ่งให้โอกาสคู่ความขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานพร้อมกับยื่นบัญชีระบุพยานก่อนศาลมีคำพิพากษา โดยแสดงเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดเวลาดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานลงวันที่ 11 ตุลาคม 2537 จึงเป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่นั่นเอง เมื่อได้พิเคราะห์ถึงคำร้องขอระบุบัญชีพยานครั้งก่อนลงวันที่ 14 กันยายน 2537 ที่อ้างว่า ทนายความโจทก์มิได้มีเจตนายื่นบัญชีระบุพยานเกินกำหนดแต่เนื่องจากนายสุทัศน์เสมียนทนายไม่นำบัญชีพยานไปยื่นภายในกำหนดและทนายความโจทก์เพิ่งทราบเรื่องในวันที่ 1 กันยายน 2537 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์เพราะศาลมีคำสั่งไม่ให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ ประกอบกับคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์ครั้งหลังสุดคือฉบับลงวันที่11 ตุลาคม 2537 ซึ่งอ้างเหตุว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดเพียง 3 วัน และในวันนัดชี้สองสถานโจทก์ส่งต้นฉบับเอกสารที่จะอ้างเป็นพยานตามที่ระบุในบัญชีระบุพยานซึ่งศาลได้รับต้นฉบับเอกสารของโจทก์ไว้แล้วประกอบคดีนี้จำเลยยื่นคำให้การโดยมิได้ปฏิเสธหนี้ตามฟ้องโจทก์ทั้งการที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลอนุญาตนั้น ถือได้ว่าโจทก์มีเหตุอันสมควรที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนด ประกอบกับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ตามกำหนด และพยานหลักฐานตามบัญชีระบุพยานที่โจทก์อ้าง และขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลเป็นพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์เกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าและการผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าของจำเลยให้แก่โจทก์ อันเป็นข้อสำคัญแห่งประเด็นในคดี ดังนั้น เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ทั้งพยานฝ่ายจำเลยก็ยังมิได้มีการนำสืบ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีระบุพยานโจทก์จึงไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานและสั่งรับบัญชีระบุพยานโจทก์ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2537 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่ แล้วโจทก์มีสิทธินำพยานหลักฐานดังกล่าวเข้าสืบ และศาลชั้นต้นมีอำนาจนำมารับฟังในการพิจารณาและพิพากษาคดีนี้ได้
พิพากษายืน