คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1185/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ นั้นมีอยู่ 2 กรณี คือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินซึ่งคณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 27, 28 และการร้องขอให้ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 30 ซึ่งกรณีไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามความหมายในมาตรา 3 ดังนั้นทรัพย์สินที่จะต้องถูกริบตามมาตรา 27, 28 และมาตรา 30 จึงเป็นทรัพย์สินคนละประเภทกัน และใช้วิธีประกาศแจ้งผู้ที่อาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ต่างกัน เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการได้ดำเนินการร้องขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางตามมาตรา 30 และศาลได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันแล้ว ผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจะต้องยื่นคำร้องเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายความถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งริบทรัพย์สิน เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเข้ามาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำคัดค้านได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมนายโกมินทร์ สาทช่วง พร้อมกับยึดได้เมทแอมเฟตามีน จำนวน 599,000 เม็ด และรถยนต์บรรทุก 18 ล้อ หมายเลขทะเบียน 70 – 1381 นครสวรรค์ และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70 – 0783 นครสวรรค์ กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซีเมนต์ เป็นของกลาง โดยกล่าวหาว่าร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาผู้ร้องได้ยื่นฟ้องนายโกมินทร์ต่อศาลชั้นต้น และระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินของกลางดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 ศาลชั้นต้นประกาศคำร้องในหนังสือพิมพ์รายวันเพื่อให้บุคคลที่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านแล้ว ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2545 ให้ริบทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2546 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอริบทรัพย์ของผู้ร้อง อ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของกลาง และผู้คัดค้านไม่รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของนายโกมินทร์ ขอให้มีคำสั่งคืนของกลางดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องขอให้ริบของกลางตามมาตรา 30, 31 ดังนั้น เจ้าของทรัพย์จึงต้องยื่นคำคัดค้านเข้ามาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเรื่องริบของกลาง ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเข้ามาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว จึงให้ยกคำคัดค้านตามมาตรา 30 วรรคสอง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า รถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่ศาลสั่งริบเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ผู้ร้องต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 28 (เดิมมาตรา 27) โดยคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จะต้องแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบในการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงของกลาง แต่กลับไม่ได้แจ้งให้ทราบ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบตามมาตรา 30 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า ในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 นั้น มีอยู่ 2 กรณีคือ การร้องขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินซึ่งคณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตาม มาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม มาตรา 27, 28 (ที่แก้ไขใหม่) และการร้องขอให้ริบบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 30 การร้องขอให้ริบทรัพย์สินในคดีนี้เป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา 30 ดังกล่าว ซึ่งมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม” วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อศาลสั่งรับคำร้องแล้ว ให้ศาลสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม” เมื่อทรัพย์สินที่จะต้องถูกริบเป็นรถยนต์บรรทุกอันเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กรณีจึงมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดดังที่ผู้คัดค้านอ้าง ซึ่งตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว คำว่า “ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด” หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฯลฯ จึงเห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่จะต้องถูกริบตามมาตรา 27, 28 และมาตรา 30 เป็นทรัพย์สินคนละประเภทกัน จึงใช้วิธีประกาศแจ้งผู้ที่อาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ต่างกัน เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินการร้องขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางตามมาตรา 30 และศาลได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันแล้ว ผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจะต้องยื่นคำร้องเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหมายความถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งริบทรัพย์สิน เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านเข้ามาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำคัดค้านจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share