คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2515

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และธนาคารได้ปฏิเสธไม่จ่ายเงินแล้ว จำเลยได้นำเงินไปชำระให้ผู้เสียหายแต่ไม่ครบตามจำนวนในเช็ค ดังนี้ ยังไม่มีผลให้คดีเป็นอันเลิกกันตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจออกเช็คของธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาพระโขนง สั่งจ่ายเงิน 20,200 บาทฉบับหนึ่ง และจำนวน20,800 บาทอีกฉบับหนึ่ง ให้แก่นายสมปอง ตวงทอง พนักงานขายรถของบริษัทประชายนต์จำกัด เพื่อเป็นการชำระหนี้ค่าซื้อรถยนต์ของบริษัท ต่อมาปรากฏว่าธนาคารได้ปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค ทั้งนี้จำเลยได้ออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

จำเลยให้การปฎิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แต่จำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยออกไปบ้างแล้ว จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน ปราณีลดโทษให้จำเลย 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงคงได้ความว่า จำเลยได้ซื้อรถยนต์ของบริษัทประชายนต์ จำกัด ไป 1 คัน ราคา 70,500 บาท จำเลยได้ชำระเงินสดให้ไป 30,500 บาท ส่วนเงินที่ยังไม่ได้ชำระอีก 40,000 บาท จำเลยได้ออกเช็คให้บริษัทประชายนต์ จำกัด ไว้ 2 ฉบับ การออกเช็คเป็นค่ารถให้แก่บริษัทประชายนต์ จำกัด เช่นนี้ จำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มให้แก่บริษัทประชายนต์ จำกัด ตามระเบียบของบริษัทด้วย เช็คที่จำเลยออกให้ฉบับแรกจึงเป็นเงิน 20,500 บาท ส่วนฉบับที่สองเป็นเงิน 20,200 บาท ได้ความว่าเช็คที่จำเลยออกให้ไปนี้ ทางบริษัทประชายนต์ จำกัด ไปเบิกเงินจากธนาคารไม่ได้เพราะเงินของจำเลยมีไม่พอจ่าย นายสมปองพนักงานขายของบริษัทประชายนต์ จำกัด จึงให้จำเลยออกเช็คใหม่ 2 ฉบับแทนเช็คเก่าที่ขึ้นเงินไม่ได้ ได้มีการเพิ่มเงินให้แก่บริษัทประชายนต์ จำกัด อีกจำเลยจึงเปลี่ยนเช็คให้ใหม่มอบให้นายสมปองไปฉบับแรกเป็นเงิน 20,200 บาท ฉบับที่สองเป็นเงิน 20,800 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนดวันจ่ายเงิน บริษัทประชายนต์ จำกัด ได้จัดการเรียกเงินตามเช็ค แต่ทางธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน

“ตามที่ได้ความมานี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเช็คที่จำเลยออกให้บริษัทประชายนต์ จำกัด ซึ่งเป็นเงินค่ารถยนต์ที่จำเลยซื้อไปนั้น เมื่อถึงกำหนดวันจ่ายเงินตามเช็คแล้ว บริษัทประชายนต์ จำกัด ไปเบิกเงินจากธนาคารไม่ได้ โดยทางธนาคารแจ้งให้ไปติดต่อจำเลยผู้สั่งจ่าย ซึ่งแสดงว่าเงินในบัญชีของจำเลยผู้สั่งจ่ายมีไม่พอจ่าย คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้ว

ที่จำเลยกับนายณรงค์ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยได้นำเงินไปชำระให้นายณรงค์ไว้บ้างแล้วนั้น ในข้อนี้คงได้ความจากพยานโจทก์และพยานจำเลยว่า จำเลยได้นำเงินไปชำระให้นายณรงค์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2511 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่เช็คถึงกำหนดวันจ่ายเงินและภายหลังจากวันที่นายณรงค์ไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจแล้วและในข้อนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 5 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 3 ได้นำเงินตามจำนวนในเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ธนาคารที่มีชื่อในเช็คบอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ให้คดีเป็นอันเลิกกันตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” แต่คดีนี้คงได้ความว่าจำเลยนำเงินไปชำระให้นายณรงค์เพียง 15,000 บาทเท่านั้น ไม่ครบตามจำนวนเงินในเช็คที่จำเลยออกให้แก่บริษัทประชายนต์ จำกัด คดีจึงไม่เลิกกันตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และไม่เป็นผลที่จะทำให้จำเลยพ้นจากความผิดตามฟ้องของโจทก์ได้”

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share