คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์ ส่วนจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวมิใช่ผู้ที่ถูกประเมิน จึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ให้ชำระหนี้ดังกล่าว ซึ่งเป็นหนี้ของห้างได้โดยไม่ต้องแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยก่อน
ป.พ.พ.มาตรา 1071 ประกอบมาตรา 1080 ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจในการบังคับคดีโดยจะให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อน หรือจะให้บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับกรณีเป็นผู้ค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันสามารถจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เจ้าหนี้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดมิให้ฟ้องร้องหุ้นส่วนผู้จัดการโดยต้องไปบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๖๒๙,๖๔๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ศาลภาษีอากรกลางรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาต่อไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๖๒๙,๖๔๐ บาท แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่ง ซึ่งถูกศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ชำระเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมเงินเพิ่ม จำนวน ๖๒๙,๖๔๐ บาท แก่โจทก์ ในคดีหมายเลขแดงที่ ๘๓/๒๕๔๐ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อหนี้จำนวน ๖๒๙,๖๔๐ บาท ด้วยหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามคำพิพากษาในคดีแดงที่ ๘๓/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น นั้น ได้ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติชัดเจนว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวทราบแล้ว การแจ้งการประเมินดังกล่าวจึงชอบ ส่วนจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าวมิใช่ผู้ที่ถูกประเมิน จึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งและจำเลย
อุทธรณ์ข้อต่อไปมีว่า โจทก์จะฟ้องให้จำเลยชำระหนี้โดยมิได้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งก่อนได้หรือไม่ เพียงใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๗๑ ประกอบมาตรา ๑๐๘๐ ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๐๗๐ นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนพิสูจน์ได้ว่า
(๑) สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และ
(๒) การที่จะบังคับเอาแก่ห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ไม่เป็นการยากฉะนี้ไซร้
ศาลจะบังคับให้เอาสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ก่อนก็ได้ สุดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจในการบังคับคดีโดยจะให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งก่อนก็ได้ สุดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรหรือจะให้บังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดวัฒนาเอ็นยิเนียริ่งก็ได้ ซึ่งแตกต่างกับกรณีเป็นผู้ค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันสามารถจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เจ้าหนี้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๘ อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามโจทก์มิให้ฟ้องร้องหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยต้องไปบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อน ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลย จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษายืน.

Share