คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10915/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส. ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจ ส. ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ แม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย แม้ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง
ขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส. โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 340, 340 ตรี, 83 กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ นาฬิกาข้อมือ ปากกาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเงิน 303,460 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางอังคณา ภริยาของนายสมชายและบุตรของนายสมชายได้แก่ นางสาวสุดปรารถนา นางสาวประทับจิต นางสาวกอปร์กุศลและนางสาวครองธรรม โดยนางอังคณายื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยเรียกนางอังคณาเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 นางสาวสุดปรารถนา เป็นโจทก์ร่วมที่ 2 นางสาวประทับจิต เป็นโจทก์ร่วมที่ 3 นางสาวกอปร์กุศล เป็นโจทก์ร่วมที่ 4 และนางสาวครองธรรมโดยนางอังคณา เป็นโจทก์ร่วมที่ 5
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก และมาตรา 391 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งห้าและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย กับให้ยกคำขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของโจทก์ร่วมทั้งห้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ร่วมทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายสมชาย ประกอบอาชีพทนายความและเป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม โดยมีสำนักงานทนายความที่กรุงเทพมหานคร ก่อนเกิดเหตุ นายสมชายเคยช่วยเหลือผู้ต้องหาและเป็นทนายความให้แก่จำเลยในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหลายคดี ต่อมาวันเกิดเหตุ นายสมชายเพียงลำพังได้ขับรถเก๋งส่วนตัว ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นซีวิค สีเขียว หมายเลขทะเบียน ภง 6786 กรุงเทพมหานคร ออกจากโรงแรม เพื่อมุ่งหน้าไปพักค้างคืนที่บ้านน้องชายของเพื่อนในหมู่บ้านสวนสนซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 3 กิโลเมตร ระหว่างทางขณะที่นายสมชายขับรถไปจอดริมถนนบริเวณหน้าร้านอาหาร มีชายคนร้ายหลายคนร่วมกันใช้กำลังบังคับพานายสมชายขึ้นรถยนต์ของคนร้ายโดยนายสมชายหายตัวไปจนกระทั่งบัดนี้ ต่อมามีผู้พบรถยนต์ของนายสมชายถูกนำไปจอดทิ้งไว้ที่ถนนกำแพงเพชร 2 หลังสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต 2) โดยมีการกล่าวหาจำเลยทั้งห้าว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเป็นคนร้ายก่อเหตุร้ายแก่นายสมชาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมชายและโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสมชายมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นายสมชายเป็นผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของคนร้ายโดยตรง นายสมชายจึงมีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 และมาตรา 30 และหากนายสมชายไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ผู้สืบสันดานและภริยาของนายสมชายย่อมมีอำนาจจัดการแทนนายสมชายได้ แต่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ประการสำคัญไว้ในมาตรา 5 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า ผู้สืบสันดานและภริยาจะจัดการแทนผู้เสียหายได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ในข้อนี้เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้วได้ใจความว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมชายไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากนายสมชายเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก อันเป็นการข่มขืนใจนายสมชายให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือเสรีภาพและขณะนี้ไม่ทราบว่านายสมชายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งแม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้ายนายสมชาย แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่านายสมชายเสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า นายสมชายถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย อีกทั้งการที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผลักและฉุดกระชากนายสมชายเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกก็ไม่ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นเหตุให้นายสมชายได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้และแม้ต่อมาในปี 2552 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งแสดงว่า นายสมชายเป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง เมื่อในขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของนายสมชายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี 2548 ตามลำดับ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสมชายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า นางอังคณา ภริยาของนายสมชายไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางอังคณาโจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของนายสมชาย โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นและเมื่อโจทก์ร่วมทั้งห้าไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์มาตั้งแต่แรก โจทก์ร่วมทั้งห้าย่อมไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องพิจารณาฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งห้าในประเด็นข้ออื่นอีก
พิพากษายืน

Share