แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาในคดีแพ่งที่พิพากษาให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่ค้ำประกัน หากไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระจนครบ นั้น หมายถึงการบังคับคดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ในกรณีที่จำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา หาได้หมายความว่าให้โจทก์บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โดยสิ้นเชิงก่อน ถ้าได้เงินไม่พอจึงจะบังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ไม่ จำเลยที่ 4 อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยคนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องและบังคับจำเลยที่ 4 ให้ชำระหนี้ที่ยังเหลือจากที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 3 และอาศัยหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามหมื่นบาท เป็นมูลฟ้องให้ล้มละลายได้
จำเลยกล่าวในฎีกาแต่เพียงว่า ยังไม่มีเหตุผลสมควรที่ะให้จำเลยล้มละลายได้มิได้กล่าวข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ใช่บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีฐานะมีทรัพย์สินอาจชำระหนี้ให้ครบได้อย่างไร หรือมีเหตุอื่นใดบ้างที่ไม่ควรให้ล้มละลาย ดังนี้ ฎีกาของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ๘๕๓๖/๒๕๑๓ ระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยแสงทอง ที่ ๑ นายสมศักดิ์ วัฒนสุทธิสาสน์ ที่ ๒ นางเติม คลองสุขเลิศ ที่ ๓ พันเอกขุนทยานราญรอน ที่ ๔ จำเลย ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมกันชำระเงิน ๑,๙๓๐,๐๖๕ บาท ๓๓ สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ รับผิดไม่เกิน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ คือที่ดินโฉนดที่ ๑๖๑๑ ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ ออกขายทอดตลาดจนครบ คดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาเฉพาะจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔๓ ส่วนจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ ๓ ให้ขอทำความตกลงกันโจทก์ยอมชำระหนี้ต้นเงินกับดอกเบี้ยถึงวันชำระ โจทก์ตกลงด้วย จำเลยที่ ๓ ยอมถอนฟ้องอุทธรณ์ คดีถึงที่สุด จำเลยที่ ๓ ในคดีแพ่งได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองให้กับโจทก์เป็นเงิน ๙๒๕,๙๑๕ บาท ๓๗ สตางค์ กับค่าธรรมเนียมค่าทนายตามคำพิพากษาของศาลแพ่งเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ ซึ่งในวันนั้นมียอดหนี้ที่จำเลยทั้งหมดต้องร่วมกันชำระรวม ๒,๗๖๘,๘๒๔ บาท ๑๑สตางค์ ซึ่งในวันนั้นมียอดหนี้มีจำเลยทั้งหมดต้องร่วมกันชำระรวม ๒,๗๖๘,๖๒๔ บาท ๑๑ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยเฉพาะจำเลยที่ ๓ คดีนี้รับผิดไม่เกิน ๘๔๗,๐๘๔ บาท ๖๓ สตางค์ โจทก์ได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว และเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๔ โจทก์ยื่นคำร้องขออายัดหุ้นของจำเลยที่ ๓ ซึ่งถือหุ้นของบริษัทวัชรธนวัฒน์ จำกัด จำนวน ๒,๐๐๐ หุ้น มูลค่าหุ้นละ ๑๐๐ บาท ชำระค่าหุ้นเต็มแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดได้เงิน ๒๐,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ อ้างว่าจำเลยที่ ๓ เป็นลูกหนี้ของบริษัทนครหลวงประกันชีวิตแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้ล้มละลาย โจทก์จึงไม่ได้รับเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดคิดยอดหนี้เพียงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ เป็นเงิน ๒,๕๖๔,๖๖๐ บาท ๑๒ สตางค์ จำเลยที่ ๓ รับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงิน ๘๔๗,๐๘๔ บาท ๖๓ สตางค์ จำเลยทั้งสามไม่ชำระ เมื่อคิดหักเงินค่าขายหุ้นแล้ว จำนวนหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดเหลือเกินกว่า ๓๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นหนี้จำนวนแน่นอน จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ และปิดสถานที่ประกอบธุรกิจการค้า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ และปิดสถานที่ประกอบธุรกิจการค้า ส่วนจำเลยที่ ๓ ได้โอนทรัพย์สินให้บุคคลอื่น และยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล แสดงว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ ๑และที่ ๒ ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยเป็นจำเลยที่ ๕ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๘๕๓๖/๒๕๑๓ ของศาลแพ่ง คดีแพ่งดังกล่าวศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในวงเงินเกือบสองล้านบาท และให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ รับผิดไม่เกิน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท หากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ คือที่ดินโฉนดที่ ๑๖๑๑ ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ ๓ ออกขายทอดตลาดชำระจนครบ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๔ (จำเลยที่ ๓ คดีนี้) ยังไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นเพียงผู้ค้ำประกัน การปฏิบัติของโจทก์ต่อจำเลยที่ ๓ ในคดีแพ่งเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ ๓ ในคดีแพ่งน้อยลง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๔ ในคดีแพ่ง ทรัพย์ที่จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๓ในคดีแพ่งยังมีพอที่จะยึดมาชำระหนี้โจทก์ให้เสร็จสิ้นไปได้ การกระทำของโจทก์เป็นการยอมความกับลูกหนี้โดยสละสิทธิ์ในจำนวนหนี้ แล้วกลับตีราคาทรัพย์ให้น้อยลง เพื่อบังคับเอากับจำเลยที่ ๔ ในคดีแพ่งซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันทั้งเป็นการผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ จำเลยที่ ๔ ในคดีแพ่งจึงพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๗๐๐ ส่วนที่โจทก์ขอเฉลี่ยเงินค่าหุ้นจำเลยที่ ๓ ไม่คัดค้าน จำเลยที่ ๓ ยังมีทรัพย์สินและสิทธิอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในคดีแพ่งศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ แต่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกันไว้ในวงเงินไม่เกิน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ รับผิดไม่เกิน ๑,๘๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่ศาลพิพากษาว่าหากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๓ ออกขายทอดตลาด หมายความถึงการบังคับเกี่ยวกับจำเลยที่ในกรณีที่จำเลยที่ ๓ ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา หาได้หมายความว่าให้โจทก์บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ โดยสิ้นเชิงก่อน แล้วถ้าได้เงินไม่พอจึงจะบังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ ๔ ซึ่งจำเลยที่ ๓ คดีนี้ไม่ จำเลยที่ ๔ อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยอื่นในคดีแพ่ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยคนใดคนหนึ่งชำระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙๑ โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๓ ในคดีแพ่งก่อน แต่ก่อนที่ขายทอดตลาด จำเลยที่ ๓ ในคดีแพ่งได้ชำระหนี้ไถ่จำนองเป็นเงิน ๙๕๒,๙๑๕.๓๗ บาท กับค่าธรรมเนียมและค่าทนายความแก่โจทก์ คงเหลือหนี้ที่จะต้องชำระเป็นเงิน ๘๔๗,๐๘๔ บาท ๖๓ สตางค์ นับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ ๓ คดีนี้ โจทก์ย่อมรับชำระหนี้แล้วถอนการยึดทรัพย์และปลดจำนองให้แก่จำเลยที่ ๓ ในคดีแพ่ง เป็นสิทธิที่โจทก์กระทำได้โดยชอบ จำเลยที่ ๓ คดีนี้ได้รับประโยชน์จากการปลดหนี้เพียงเท่าส่วนที่ปลดให้เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙๓ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๖๙๗ เพราะจำเลยที่ ๓ คดีนี้ไม่อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๓ ในคดีแพ่ง หากแต่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกันในฐานะลูกหนี้ร่วม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องและบังคับผิดไปจากคำพิพากษาคดีแพ่งแต่อย่างใดการกระทำของโจทก์เป็นการชอบด้วยกฎหมายและสุจริต ดังนั้นโจทก์ย่อมอาศัยหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามหมื่นบาท เป็นมูลฟ้องจำเลยที่ ๓ให้เป็นบุคคลล้มละลายได้
ส่วนข้อที่จำเลยที่ ๓ มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๓ บรรยายในฎีกาโดยชัดแจ้งเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่อ้างว่าโจทก์จะอาศัยหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งเป็นมูลฐานในการฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ มิได้กล่าวข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ใช่บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีฐานะมีทรัพย์สินอาจชำระหนี้ให้ครบได้อย่างไร หรือมีเหตุอื่นใดบ้างที่ไม่ควรให้ล้มละลาย ฎีกาจำเลยที่ ๓ ในข้อนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ ข้อเท็จจริงจึงยุติฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓มีหนี้สินล้นพ้นตัว หนี้กำหนดได้แน่นอนมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามหมื่นบาทและไม่มีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้ล้มละลายศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔
พิพากษายืน