คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 508/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 10 และพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ในปัญหานี้ ดังนั้นการที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาในปัญหาที่ยุติแล้ว และเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 110 วรรคท้าย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 19 บัญญัติว่า’การขนแร่เกินใบอนุญาตที่มิได้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นนั้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาต’ หมายความว่าเจ้าของแร่หรือผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีเจตนาหรือรู้เห็นเป็นใจในการขนแร่เกินใบอนุญาตด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ขนแร่ดีบุกจำนวน 11 กระสอบโดยได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์ไปบรรทุกแร่ดีบุกจาก ท.คนเฝ้ารักษาแร่ดีบุกของจำเลยที่ 2 ท. ได้ยักยอกแร่ดีบุกของจำเลยที่ 2 บรรทุกไปในรถยนต์คันดังกล่าวอีก 15 กระสอบ กรณีแร่ดีบุกจำนวน 15 กระสอบนี้จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาหรือรู้เห็นเป็นใจที่จะให้ขนเกินไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขนแร่ หากแต่เป็นการกระทำโดยพลการของ ท. เอง จึงถือไม่ได้ว่าแร่ของกลางทั้งหมดเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 110 และริบไม่ได้ตามมาตรา 154

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๒๕ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยทั้งสองร่วมกันมีแร่ดีบุกน้ำหนัก ๘๘๓ กิโลกรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและในการขนแร่ดีบุกจำเลยทั้งสองได้รับใบอนุญาตขนแร่ให้ขนได้ ๖๖๐ กิโลกรัม แต่จำเลยทั้งสองร่วมกันขนแร่ดีบุกถึง ๑,๕๔๓ กิโลกรัม เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตถึง ๘๘๓ กิโลกรัม ซึ่งตามพระราชบัญญัติแร่ให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ ๑ ได้พร้อมด้วยแร่ดีบุก น้ำหนัก ๑,๕๔๓ กิโลกรัม และรถยนต์บรรทุกซึ่งใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๔, ๑๐, ๑๐๕, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๔๘, ๑๕๔ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๑๖ มาตรา ๓, ๗, ๘, ๓๒ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๘, ๑๙, ๒๑, ๒๗ กฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ ให้ริบแร่ทั้งหมดและรถยนต์ของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๔, ๑๐, ๑๐๕, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๔๘, ๑๕๔ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๑๖ มาตรา ๓, ๗, ๘, ๓๒ พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๘, ๑๙, ๒๑, ๒๗กฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ เรียงกระทงลงโทษฐานมีแร่ไว้ในครอบครอง ปรับ ๓๘๐,๐๐๐ บาท ฐานขนแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ ๖๖๐,๐๐๐ บาท รวมปรับ ๑,๐๔๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๕๒๐,๐๐๐ บาท ของกลางริบทั้งหมด และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ขอให้คืนแร่ดีบุกของกลางทั้งหมดแก่จำเลยที่ ๒
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แร่ดีบุกจำนวน ๑๑ กระสอบเป็นแร่ที่มีใบอนุญาตให้ขนได้โดยถูกต้อง จึงริบแร่ดีบุกดังกล่าวไม่ได้ ส่วนแร่ดีบุกอีก ๑๕ กระสอบ เป็นแร่ดีบุกของจำเลยที่ ๒ ซึ่งถูกยักยอกไป และจำเลยที่ ๒ มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ ด้วย เป็นทรัพย์ที่ริบไม่ได้เช่นกันจึงพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบแร่ดีบุกของกลางทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ เป็นตัวการในการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๑๐ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๑๐ และพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ แล้วโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ จึงถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นอันยุติ และเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลควรริบแร่ดีบุกของกลางทั้งหมดนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา๑๑๐ วรรคท้าย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๙ บัญญัติว่า ‘การขนแร่เกินใบอนุญาตที่มิได้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นนั้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาต’ ซึ่งหมายความว่าเจ้าของแร่หรือผู้ถืออาชญาบัตร ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว ผู้ถือประทานบัตรหรือผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีเจตนาหรือรู้เห็นเป็นใจในการขนแร่เกินใบอนุญาตด้วย และตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐มาตรา ๑๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๗ ยังบัญญัติไว้ว่า ‘บรรดาแร่ เครื่องมือ เครื่องใช้ ….ที่บุคคลได้มา ได้ใช้ในการกระทำความผิด …….ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่เว้นแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด’ ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของแร่ดีบุกของกลางได้รับอนุญาตให้ขนแร่ดีบุกจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปกรุงเทพมหานครเป็นจำนวน ๑๑ กระสอบ น้ำหนัก ๖๖๐ กิโลกรัม จึงได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกไปบรรทุกแร่ดีบุกตามจำนวนที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ดังกล่าวจากนายทรัพย์คนเฝ้ารักษาแร่ของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ มิได้ร่วมไปกับจำเลยที่ ๑ ด้วย แต่นายทรัพย์คนเฝ้ารักษาแร่ของจำเลยที่ ๒ ยักยอกแร่ดีบุกของจำเลยที่ ๒ บรรทุกไปในรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ขับด้วยอีก ๑๕ กระสอบ น้ำหนัก ๘๘๓ กิโลกรัม ทำให้จำนวนแร่เกินกว่าที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขนแร่เป็นเหตุให้ถูกจับ ดังนี้แร่ดีบุกจำนวน ๑๑ กระสอบ น้ำหนัก ๖๖๐ กิโลกรัม เป็นแร่ที่จำเลยที่ ๒ ได้รับใบอนุญาตขนแร่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนแร่ดีบุกจำนวน ๑๕ กระสอบ น้ำหนัก ๘๘๓ กิโลกรัมที่เกินจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขนแร่นั้นจำเลยที่ ๒ มิได้มีเจตนาหรือรู้เห็นเป็นใจที่จะให้ขนแร่เกินไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขนแร่แต่ประการใด เป็นการกระทำไปโดยพลการของนายทรัพย์ที่ยักยอกแร่ของจำเลยที่ ๒ เอง แร่ดีบุกของกลางทั้งหมดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา ๑๑๐ และริบไม่ได้ตามมาตรา ๑๕๔ ดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ริบแร่ดีบุกของกลางทั้งหมดชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share