คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6636/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่2รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่1ผู้จัดการมรดกของบ. โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมรดกที่ยังมิได้แบ่งแก่โจทก์ทั้งหกผู้เป็นทายาทของบ. อันเป็นการรับซื้อฝากไว้โดยไม่สุจริตเป็นการทำให้โจทก์ทั้งหกผู้เป็นทายาทซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์ทั้งหกโจทก์ทั้งหกชอบที่จะร้องขอให้เพิกถอนการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา237 จำเลยที่1ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของบ.อ้างว่าบ. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเพียงคนเดียวคือย.ซึ่งไม่เป็นความจริงความจริงบ. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก3คนคือด.จ.และย. และเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วจำเลยที่1ก็ได้โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองแต่ผู้เดียวไม่จัดการแบ่งปันแก่ทายาทโดยปกปิดเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าไม่มีทายาทอื่นการกระทำของจำเลยที่1จึงเป็นการปิดบังและยักย้ายทรัพย์มรดกจำเลยที่1จึงเป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของบ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1605 จำเลยที่1เป็นผู้ปิดบังและและยักย้ายทรัพย์มรดกจำเลยที่1เป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะยกอายุความมาตัดสิทธิโจทก์ทั้งหกสำหรับจำเลยที่2นั้นไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นทายาทจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งหกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1755ได้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรนางจันทร์ โมรานอกมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 1 คน คือนางรื่นรมย์ โน้มกลางโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรนางแย้มกลิ่น ชอบการมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 1 คน คือนายชัย ชอบการนางจันทร์ และนางแย้มกลิ่นเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวแบะ โซพุทราและถึงแก่กรรมก่อนนางสาวแบะ นางสาวแบะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2527 มีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1711ตำบลโนนตาเถร อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 47ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา มีทายาทคือโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนางรื่นรมย์ซึ่งรับมรดกแทนที่นางจันทร์กับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6จำเลยที่ 1 และนายชัยซึ่งรับมรดกแทนที่นางแย้มกลิ่น ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวมาเป็นของตนเองโดยรู้อยู่แล้วว่านางสาวแบะยังมีโจทก์กับพวกรวม 8 คน เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก แล้วนำไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวแบะและจำเลยที่ 1 ได้มาโดยมิชอบการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนางรื่นรมย์คนละ 7 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวากับส่วนของโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และนายชัยคนละ 3 ไร่ 3 งาน85 ตารางวา เป็นจำนวนมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยฉ้อฉล ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และนายชัยจึงมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้นเป็นคนละ 4 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวาขอให้พิพากษาว่า สัญญาขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะให้เพิกถอน และพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และนางรื่นรมย์คนละ 3 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวากับแบ่งให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 และนายชัยคนละ 4 ไร่ 3 งาน2 ตารางวา หากไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า นางสาวแบะ โซพุทรายกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ก่อนนางสาวแบะ ถึงแก่กรรม หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เมื่อนางสาวแบะถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 จึงดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนมาเป็นจำเลยที่ 1 แล้วนำไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับฝากไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต สัญญาขายฝากจึงสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินมรดกภายในหนึ่งปีนับแต่นางสาวแบะถึงแก่กรรม ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนการขายฝากที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1711เล่ม 18 ข หน้า 11 เลขที่ดิน 34 ตำบลโนนตาเถร อำเภอประทายจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 1มิถุนายน 2532 ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกที่ดินพิพาท ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็น12 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับส่วนแบ่งคนละ 2 ส่วน โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 ได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ส่วนหากจำเลยที่ 1 ไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน คำขออื่นให้ยก
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ทั้งสอง ฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นางสาวนราภรณ์ ศักดิ์ชัยสิทธิกุล ทายาทและผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 2ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวแบะ โซพุทรา ผู้ตาย มีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์ทั้งหกหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมรดกที่ยังมิได้แบ่งแก่โจทก์ทั้งหกผู้เป็นทายาทอันเป็นการรับซื้อฝากไว้โดยสุจริต เป็นการทำให้โจทก์ทั้งหกผู้เป็นทายาทซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสมคบกันทำการฉ้อฉลโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกชอบที่จะร้องขอให้เพิกถอนการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหรือไม่นั้น ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ที่ 4และนายวิวัฒน์ ประจันตะเสนว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวแบะ โซพุทรา ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1679/2531 ของศาลชั้นต้น อ้างว่า นางสาวแบะมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเพียงคนเดียว คือนางแย้มกลิ่น ชอบการ ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงนางสาวแบะมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน คือนางสาวดำ โซพุทรา นางจันทร์ โมรานอกและนางแย้มกลิ่น ชอบการ และเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองแต่ผู้เดียว ไม่จัดการแบ่งปันแก่ทายาท โดยปกปิดนายนายวิวัฒน์ ประจันตะเสน เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าไม่มีทายาทอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปิดบังและยักยอกทรัพย์มรดก จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของนางสาวแบะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายมีว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปิดบังและยักย้ายทรัพย์มรดกจำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะยกอายุความมาตัดสิทธิโจทก์ทั้งหก สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นทายาท จึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งหกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 ได้เช่นกัน
พิพากษายืน

Share