คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ได้ยืมเงินทดรองเพื่อนำไปซื้อสิ่งของตามหน้าที่ของจำเลยแต่เอาเงินไปใช้เสีย ดังนี้เป็นความผิดทางอาญาแล้ว เพราะการยืมเงินทดรองของทางราชการหรือเทศบาลหามีลักษณะเหมือนการยืมเงินธรรมดาในระหว่างเอกชนด้วยกันไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลเมืองกระบี่ ทำหน้าที่สมุหบัญชีและพนักงานการไฟฟ้าเทศบาลเมืองกระบี่ด้วยอีกสองตำแหน่งมีหน้าที่รับเงิน จ่ายเงิน จัดซื้อและรักษาเงินของเทศบาลและการไฟฟ้า จำเลยบังอาจทุจริตยักยอกเอาเงินของเทศบาลและการไฟฟ้าไปหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน รวมเป็นเงิน 25,223 บาท 85 สตางค์ ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้

ก.ข.ค.ฯลฯ

ง.จ. จำเลยยืมเงินทดรองของเทศบาลเมืองกระบี่ไป 1,800 บาท,776 บาท เพื่อนำไปซื้อแบบพิมพ์และเครื่องเขียนแบบพิมพ์ให้การไฟฟ้าและเทศบาลเมืองกระบี่ตามลำดับ อันเป็นการทำตามหน้าที่ของจำเลยตามระเบียบจำเลยต้องนำใบสำคัญการใช้เงินพร้อมเงินเหลือจ่ายส่งใช้เทศบาลภายใน 15 วัน แต่จำเลยทุจริตเบียดบังยักยอกเสียโดยไม่ซื้อแบบพิมพ์ และไม่ส่งใบสำคัญ

ฉ. จำเลยรับเงิน 713 บาท เพื่อไปจ่ายให้สำนักพิมพ์ พ.พิทยาคารเป็นค่าเครื่องเขียนและแบบพิมพ์ แต่จำเลยยักยอกเสีย

ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 131 และที่แก้ไข

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อหาฟ้องข้อ ก.ข.ค.ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทุจริตยักยอก ส่วนข้อ ง.จ.ฉ.เป็นความรับผิดทางแพ่ง จะลงโทษฐานยักยอกไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องข้อ ง.จ.ฉ.จริงพิพากษากลับ ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 ซึ่งมีโทษเบาและเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะจำเลยกระทำผิด จำคุก 2 ปี

จำเลยฎีกาว่า ไม่มีความผิดตามฟ้องข้อ ง.จ.ฉ. เพราะเรื่องการยืมเงินแล้วไม่ส่งคืนนี้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยมีว่า ให้ดำเนินการเรียกร้องคืนโดยฟ้องร้องทางแพ่ง

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้าการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นความผิดทางอาญาแล้ว แม้จะเป็นกรณียืมเงินทดรองอย่างกรณีนี้และแม้จะมีระเบียบของกระทรวงมหาดไทยให้จังหวัดหรือเทศบาลดำเนินการฟ้องร้องเรียกคืนทางแพ่ง ก็หาทำให้ความผิดของจำเลยกลายเป็นไม่ผิดไปไม่ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าการยืมเงินทดรองของทางราชการหรือเทศบาลนี้หามีลักษณะเหมือนการยืมเงินธรรมดาในระหว่างเอกชนไม่และอีกประการหนึ่งระเบียบของกระทรวงมหาดไทยไม่มีลักษณะเป็นกฎหมายที่จะมายกเว้นความผิดทางอาญาแต่ประการใด และที่จริงระเบียบของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงิน รักษาเงินและการตรวจเงินของเทศบาล พ.ศ.2496 โดยเฉพาะข้อ 16(9) ที่จำเลยกล่าวอ้างมานั้น ก็หาใช่จะมีความจำกัดว่าให้ดำเนินการได้แต่เฉพาะทางแพ่งเท่านั้นไม่ เป็นแต่ให้เจ้าหน้าที่รีบเรียกร้องเงินคืนให้ทันท่วงทีเท่านั้น

เฉพาะข้อเท็จจริง เห็นว่า จำเลยรับเงินไปแล้วไม่ซื้อเครื่องเขียนแบบพิมพ์และชำระให้ร้าน พ.พิทยาการ ตามฟ้องโจทก์จริงฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share