คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 109/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของโจทก์ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ระวังรักษาข้าวเปลือกที่โจทก์รับฝากจากชาวนา เป็นเหตุให้คนร้ายลักข้าวเปลือกนั้นไป เป็นผลโดยตรงให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องใช้เงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรผู้รับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาไว้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าขณะที่ข้าวเปลือกหายไปยังเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวนาอยู่หรือไม่และโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวนาแล้วหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ ปรากฏว่าในช่วงฤดูการผลิตปี 2527 คาบเกี่ยวกับปี 2528 รัฐบาลจัดทำโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรชาวนา มีคำสั่งกำหนดให้โจทก์กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมกันดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2528 โจทก์มีคำสั่งมอบหมายให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ประจำคลังสินค้าจังหวัดลพบุรีโดยเช่าฉางของนายเสนี่ย ปาลวัฒน์ เจ้าของโรงสีจันทร์สถิตย์ใช้เป็นคลังสินค้าของโจทก์เพื่อรับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรชาวนาจำนวน 2 หลัง โจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคลังสินค้า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานคลังสินค้า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานตรวจคุณภาพข้าวซึ่งเป็นการดำเนินงานตามโครงการรับฝากและรับจำนำข้าวเปลือกฤดูการผลิตปี2527/2528 ของรัฐบาล โจทก์กำหนดให้คลังสินค้าจังหวัดลพบุรีเป็นสถานที่รับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรชาวนาในเขตจังหวัดลพบุรีร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาลพบุรีในการปฏิบัติงานนั้น จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การคลังสินค้า กล่าวคือ เมื่อเกษตรกรชาวนานำข้าวเปลือกมาฝาก จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ร่วมกันตรวจคุณภาพข้าวและชั่งน้ำหนักข้าว เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ออกใบประทวนสินค้าและใบรับของคลังสินค้าให้กับผู้ฝากเสร็จแล้วจะให้คนงานหาบเข้าไปเก็บในคลังสินค้า หลังจากเสร็จการรับมอบข้าวในแต่ละวัน จำเลยทั้งสามจะต้องปิดคลังใส่กุญแจและเก็บรักษาลูกกุญแจไว้คนละชุดการเก็บรักษาสินค้าเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสามจะต้องช่วยกันดูแลรักษาจัดคลังสินค้าให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ การยักยอกและการโจรกรรม จัดทำบัญชีสต๊อกสินค้าและลงบัญชีสต๊อกให้ถูกต้องทันกาลอยู่เสมอ ต่อมาระหว่างเดือนมกราคม2528 ถึงเดือนเมษายน 2528 คลังสินค้าจังหวัดลพบุรีได้เปิดการรับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรชาวนา จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นพนักงานคลังสินค้าได้ปฏิบัติหน้าที่ โดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2516ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ ไม่ระวังรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ และไม่ป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จนเต็มความสามารถโดยได้ร่วมกันกระทำการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์ คือ ร่วมกันลงบัญชีรับฝากข้าวเปลือกเกินกว่าความเป็นจริงประมาณ 5,264 ตันเศษ เพื่อออกใบประทวนสินค้ากับใบรับของคลังสินค้าให้กับบุคคลอื่นนำไปจำนำธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรโดยไม่มีข้าวเปลือกไปฝากเลย เป็นการช่วยให้ตนเองหรือผู้อื่นสามารถเบิกเงินจากธนาคารดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้มีการลักลอบนำข้าวเปลือกบางส่วนออกจากฉางโดยจำเลยทั้งสามกระทำโดยจงใจรู้เห็นกับนายเสนี่ยปาลวัฒน์ นำข้าวเปลือกไปสีเป็นเมล็ดข้าวขาวแล้วนำออกขายแก่บุคคลภายนอก หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ระวังรักษาประโยชน์ของโจทก์ ไม่ป้องกันความเสียหายให้แก่โจทก์จนเต็มความสามารถ ไม่ดูแลรักษาจัดคลังสินค้าให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยไม่ช่วยกันรักษาความปลอดภัยให้แก่สินค้าจากการยักยอกและโจรกรรมเป็นเหตุให้มีคนร้ายลักลอบเข้าไปในคลังสินค้าของโจทก์ แล้วนำข้าวเปลือกออกไปขายเป็นจำนวนมาก การที่จำเลยทั้งสามฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวทำให้ข้าวเปลือกที่โจทก์รับฝากไว้ในคลังสินค้าขาดหายไปจำนวน 7,969,369 ตัน คิดเป็นเงิน 23,960,553.90 บาท(ที่ถูกน่าจะเป็น 23,906,553.90 บาท) เป็นผลให้โจทก์ไม่สามารถส่งมอบข้าวเปลือกตามจำนวนที่สูญหายดังกล่าวคืนให้แก่เกษตรกรชาวนาผู้นำข้าวเปลือกมาฝากและทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรไม่ได้รับชำระหนี้จากการบังคับจำนำข้าวเปลือกตามจำนวนที่สูญหายไป โจทก์ผู้รับฝากสินค้าจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เกษตรกรชาวนา และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตามจำนวนราคาข้าวที่สูญหายไป จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวนดังกล่าว โจทก์ตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งแล้วคณะกรรมการสอบสวนมีมติให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 23,906,553.90 บาท โจทก์ไม่มีทางบังคับจึงฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกัน หรือแทนกันชำระเงินจำนวน23,906,553.90 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อหาประโยชน์ให้แก่ตนหรือผู้อื่นแต่อย่างใดจำเลยที่ 1 มิได้ทำหลักฐานเท็จในการรับฝากข้าวเปลือกเกินกว่าความเป็นจริง ส่วนการนำข้าวเปลือกซึ่งเก็บรักษาไว้ในฉางทั้งสองออกไปสีเป็นเมล็ดข้าวนั้น จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาสินค้าและเก็บของในคลังสินค้าทุกประการ ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะฟ้องคดีนี้ นายสุธน ชื่นสมจิตต์ มิได้เป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าและโจทก์มิใช่ผู้เสียหายเนื่องจากโจทก์ยังมิได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือเกษตรชาวนาหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในข้าวเปลือกดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานตรวจคุณภาพข้าวและพืชไร่ชั้น 2 ที่คลังสินค้าจังหวัดลพบุรี จำเลยที่ 3 มีหน้าที่เพียงตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ชาวนาหรือเกษตรกรนำมาฝากไว้ว่าข้าวดังกล่าวที่จะนำมาฝากอยู่ในคุณภาพ ชั้นหรือเกรดเท่าไร จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ตรวจรับจำนวนสินค้าดูแลรับผิดชอบคลังสินค้า และจำเลยที่ 3 ไม่เคยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่อื่นใดอันเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบดูแลคลังสินค้า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและมิได้รู้เห็นหรือสมคบหรือประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าของโจทก์ตามฟ้องสูญหาย ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 23,906,553.90 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 กันยายน 2528 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องนายสุธน ชื่นสมจิตต์เป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้านั้น โจทก์มิได้นำนายสุธนมาเบิกความประกอบเอกสารว่าได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าจริง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 3อุทธรณ์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้รับฝากข้าวเปลือกจากชาวนา เมื่อข้าวเปลือกที่รับฝากบางส่วนสูญหายไปโจทก์ต้องรับผิดในจำนวนข้าวเปลือกที่สูญหายไป เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรประมาณ 15ล้านบาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์รับฝากข้าวเปลือกจากชาวนาซึ่งนำมาจำนำไว้กับธนาคาร ชาวนายังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในข้าวนั้น ดังนั้น เมื่อข้าวสูญหายไปโดยมิใช่ความผิดของชาวนา โจทก์ต้องรับผิดต่อชาวนา มิใช่ต่อธนาคารโจทก์เองก็ได้กล่าวมาในฟ้องว่าโจทก์ไม่สามารถส่งมอบข้าวเปลือกคืนให้กับชาวนาได้ จึงต้องรับผิดชดใช้ให้กับชาวนา แต่โจทก์มิได้นำสืบเลยว่าได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวนาแต่อย่างใด การที่โจทก์ชดใช้เงินให้กับธนาคารไปจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสิทธิที่จะมาไล่เบี้ยเอากับจำเลยได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องนี้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนางวีระวรรณ ผลศรัทธาพยานโจทก์ว่า ขณะฟ้องคดีนี้นายสุธน ชื่นสมจิตต์ เป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้านายสนิท วรปัญญา ก็เบิกความว่า หลังจากพยานพ้นจากตำแหน่งผู้รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า นายสุธน ชื่นสมจิตต์เป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าและเป็นตลอดมาจนบัดนี้ เมื่อพิเคราะห์สำเนาคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 285/2529 ลงวันที่ 10ตุลาคม 2529 เอกสารหมายเลข 1 ท้ายฟ้องปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งให้นายสุธน ชื่นสมจิตต์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529ฟังได้ว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้นายสุธน ชื่นสมจิตต์ เป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า เช่นนี้ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้นำนายสุธนมาเบิกความประกอบเอกสารว่านายสุธนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าจริงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานที่ว่านายสุธนชื่นสมจิตต์ เป็นผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าหรือไม่ อันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย นอกจากนี้ศาลแรงงานกลางยังฟังข้อเท็จจริงด้วยว่า หลังจากข้าวเปลือกซึ่งโจทก์รับฝากไว้สูญหาย โจทก์ได้ชำระเงินเป็นค่าข้าวเปลือกบางส่วนเป็นเงิน 15 ล้านบาทให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแล้วเช่นนี้โจทก์ชอบที่จะฟ้องเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้ที่กระทำให้ข้าวเปลือกดังกล่าวสูญหายไปได้ เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไม่ระวังรักษาข้าวเปลือกตามหน้าที่เป็นเหตุให้คนร้ายลักข้าวเปลือกที่โจทก์รับฝากไว้ไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามได้ เพราะการกระทำของจำเลยเป็นผลโดยตรงให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องใช้เงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรไปถึง 15 ล้านบาท และยังมีข้าวเปลือกหายไปอีกจำนวนหนึ่งซึ่งรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 23,906,553.90 บาท และไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ขณะที่ข้าวเปลือกหายไปข้าวเปลือกยังเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวนาอยู่หรือไม่ และโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวนาแล้วหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share