คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การประกอบกิจการรับซื้อขาย แลกเปลี่ยน สะสมวัตถุสิ่งของที่ชำรุด ใช้แล้ว เหลือใช้ จำพวกกระดาษ เหล็ก พลาสติก ขวดหรือสิ่งของเก่าอื่น ๆ อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกองวัสดุสิ่งของเก่า หรือให้ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง แสดงว่าเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกเป็นคนละกระทงความผิดกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91
พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 80 บัญญัติว่า ผู้ดำเนินกิจการผู้ใดดำเนินกิจการในระหว่างที่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หยุดดำเนินการหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 45 มาตรา 52 หรือมาตรา 65 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามฟ้องซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้จึงไม่เป็นการลงโทษปรับจำเลยซ้ำซ้อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยเมื่อระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จนถึงวันฟ้องต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยประกอบกิจการรับซื้อขาย แลกเปลี่ยน สะสมวัตถุ สิ่งของที่ชำรุดใช้แล้ว เหลือใช้ จำพวก กระดาษ เหล็ก พลาสติก ขวด หรือสิ่งของเก่าอื่น ๆ อันเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่บ้านเลขที่ 152/2 หมู่ที่ 5 ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2547 เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบการกระทำความผิดของจำเลยมีคำสั่งให้จำเลยเคลื่อนย้ายกองวัสดุสิ่งของเก่า สิ่งของชำรุด ใช้แล้ว เหลือใช้ จำพวกกระดาษ เหล็ก พลาสติก ขวด หรือสิ่งของเก่าอื่น ๆ ดังกล่าวที่ชิดขอบถนนใกล้กับสถานประกอบกิจการของจำเลยให้ห่างจากขอบถนน 2 เมตร หรือให้อยู่ในรั้วรอบขอบชิดของสถานประกอบกิจการของจำเลย และให้จำเลยยื่นคำขอใบอนุญาตหรือขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าว ซึ่งจำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2547 และจำเลยจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2547 ครั้นถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง และเวลากลางวันต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวโดยจำเลยยังคงเว้นไม่เคลื่อนย้ายกองวัสดุสิ่งของเก่า สิ่งของที่ชำรุด ใช้แล้ว เหลือใช้ จำพวกกระดาษ เหล็ก พลาสติก ขวด หรือสิ่งของเก่าอื่น ๆ ดังกล่าว ที่ชิดขอบถนนใกล้กับสถานประกอบกิจการของจำเลยดังกล่าว และจำเลยงดเว้นไม่ยื่นคำขอใบอนุญาตหรือขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวตลอดมา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 31, 32, 33, 45, 71, 80 และปรับจำเลยอีกไม่เกินวันละ 5,000 บาท ตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2547 ถึงวันฟ้อง และถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่ง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง, 45 วรรคหนึ่ง, 71, 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท และปรับจำเลยเป็นรายวันอีกวันละ 500 บาทนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 250 บาท นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การกระทำผิดของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หรือเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยฎีกาว่าจำเลยประกอบกิจการค้ารับซื้อขาย แลกเปลี่ยน สะสมวัตถุสิ่งของที่ชำรุดให้แล้ว เหลือใช้จำพวกกระดาษ เหล็ก พลาสติก ขวด หรือสิ่งของเก่าอื่น ๆ อันเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานมีคำสั่งให้จำเลยเคลื่อนย้ายกองวัสดุดังกล่าว และให้จำเลยยื่นคำขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการภายใน 15 วัน แต่จำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ โดยจำเลยมิได้ประกอบกิจการผิดกฎหมายเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทเท่านั้น เห็นว่า การประกอบกิจการรับซื้อขาย แลกเปลี่ยน สะสมวัตถุสิ่งของที่ชำรุด ใช้แล้ว เหลือใช้ จำพวกกระดาษ เหล็ก พลาสติก ขวดหรือสิ่งของเก่าอื่น ๆ อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกองวัสดุสิ่งของเก่า หรือให้ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง แสดงว่าเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เป็นคนละกระทงความผิดกันการกระทำผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาในทำนองว่า การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยการจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาทแล้ว ยังลงโทษปรับเป็นรายวันอีกวันละ 500 บาท อีกสถานหนึ่งด้วยนั้นเป็นการลงโทษปรับที่ซ้ำซ้อนกัน ขอให้ศาลเลือกลงโทษปรับเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 80 บัญญัติว่า ผู้ดำเนินกิจการผู้ใดดำเนินกิจการในระหว่างที่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หยุดดำเนินกิจการหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 45 มาตรา 52 หรือมาตรา 65 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามฟ้องซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้ทำได้จึงไม่เป็นการลงโทษปรับจำเลยซ้ำซ้อนดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share