คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมกับโจทก์ จะแบ่งทรัพย์ให้โจทก์ ไม่ได้ฟ้องนางทรัพย์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า ทรัพย์มรดกที่พิพาท จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่ในความครอบครองของนางทรัพย์และ ส. ซึ่งเป็นโจทก์คนหนึ่งได้รับส่วนแบ่งไปจากนางทรัพย์แล้ว ซึ่งถ้าสมข้อต่อสู้ของจำเลย จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด ดังนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องฟังจากพยานหลักฐานต่อไป
คดีก่อนเป็นเรื่องฟ้องแบ่งมรดก คดีหลังเป็นเรื่องฟ้องเรียกทรัพย์ตามสัญญาแบ่งมรดก ดังนี้ หาใช่เรื่องเดียวกันไม่ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลรวมพิจารณาพิพากษา

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า นายแป้นกับนางทรัพย์ได้ทำการสมรสกันเมื่อประมาณ 50 ปี เกิดบุตรด้วยกัน 10 คน รวมทั้งโจทก์ทั้ง 3 จำเลยเห็นน้องนางทรัพย์ ได้เสียเป็นสามีภริยากับนายแป้นเมื่อประมาณ 36 ปีมานี้ ไม่มีบุตรด้วยกัน นายแป้นถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2502 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรม มีทรัพย์รวมเป็นเงิน 206,000 บาท จำเลยครอบครองทรัพย์สินอันเป็นมรดกแล้วปิดบังซ่อนเร้นยักยอกเงินมรดกเป็นส่วนตัว 45,000 บาท ฯลฯ ทรัพย์มรดกที่ปิดบังคิดเป็นราคา 118,500 บาท ต่อมานายเสงี่ยมโจทก์เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยตามสำนวนคดีแดงที่ 241/2502 ซึ่งจำเลยประนีประนอมกับโจทก์ทำสัญญาแบ่งมรดกกันเอง โดยจำเลยยอมแบ่งที่ดินอันดับ18-23 ให้โจทก์ 1 ส่วนกับเงินสดอีก 6,000 บาท คิดเป็นเงิน34,333 บาท จำเลยสัญญาจะจัดการแบ่งให้ภายใน 1 เดือน โจทก์จึงถอนฟ้องครบกำหนดกลับไม่ยอมแบ่ง นายเสงี่ยมโจทก์จึงฟ้องจำเลยอีกตามสำนวนคดีแดงที่ 126/2503 และในคราวเดียวกัน นายบุตรนายสินโจทก์ และนางเป้าก็ฟ้องจำเลยตามสำนวนคดีแดงที่ 125/2503 และ124/2503

ในคดีที่นายเสงี่ยมนายบุตรนายสินและนางเป้าฟ้องจำเลยนั้นกล่าวฟ้องเป็นทำนองเดียวกัน โดยขอแบ่งมรดกจากจำเลย ฝ่ายจำเลยให้การต่อสู้ว่า แบ่งมรดกให้โจทก์รับไปแล้ว ศาลรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน ในวันชี้สองสถานโจทก์จำเลยตกลงท้ากันในประเด็นข้อเดียวเป็นข้อแพ้ชนะคือ โจทก์ว่าจำเลยไม่ได้แบ่งมรดกทุกชิ้นให้โจทก์แบ่งบางชิ้น โจทก์ไม่ได้สละมรดก ส่วนจำเลยว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกัน โจทก์รับเงินไปแล้วไม่ขอเกี่ยวข้องกับมรดกรายอื่น เป็นการสละมรดก ประเด็นหลังนี้ตกลงท้ากันให้สืบนายบุญกำนันผู้เดียว หากนายบุญเบิกความสมฝ่ายใดฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะคดี ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังว่ามีการทำสัญญาแบ่งมรดกกันเองจริงส่วนที่จะได้ทรัพย์มรดกตามสัญญาแบ่งมรดกหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ศาลฎีกาพิพากษายืน โจทก์ทั้งสามจึงฟ้องคดีนี้เรียกทรัพย์ตามสัญญาแบ่งมรดกขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามสัญญาแบ่งมรดกโดยแบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์อันดับ18 ถึง 23 ให้โจทก์คนละ 1 ส่วนคิดเป็นเงิน 28,333 บาท กับเงินสดอีกคนละ 6,000 บาท รวมเป็นเงินคนละ 34,333 บาท ถ้าจำเลยไม่สามารถแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ก็ขอให้เอาทรัพย์มรดกออกประมูลราคาระหว่างกันเองก่อน

จำเลยให้การว่า จำเลยมีสินส่วนตัว ไม่ได้มีเจตนาทุจริตคิดฉ้อฉลปิดบังยักย้ายมรดกของนายแป้น ไม่เคยยักยอก เงินที่เป็นมรดกนายแป้นมีเพียง 20,000 บาท มรดกของนายแป้นไม่อยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิด นายเสงี่ยมโจทก์หมดสิทธิฟ้องร้องเพราะได้รับทรัพย์มรดกไปจากจำเลยเป็นที่พอใจแล้ว

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย วินิจฉัยว่า สารสำคัญที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีคือโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้ประนีประนอมทำสัญญาแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 18 ถึง 23 ให้แก่โจทก์คนละ 1 ส่วน กับเงินสดอีกคนละ 6,000 บาท คำให้การของจำเลยทั้งสองสำนวนมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับที่ 18 ถึง 23 ให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน กับให้เงินสดแก่โจทก์อีกคนละ 6,000 บาท ตามสัญญาแบ่งมรดกที่จำเลยทำไว้กับโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมกับโจทก์จะแบ่งทรัพย์ให้โจทก์ หาได้ฟ้องนางทรัพย์ไม่ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ว่าทรัพย์มรดกที่พิพาทจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่ในความครอบครองของนางทรัพย์และนายเสงี่ยมโจทก์ได้รับส่วนแบ่งไปจากนางทรัพย์แล้ว ซึ่งถ้าสมข้อต่อสู้ของจำเลย จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด ดังนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานต่อไป

ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโดยเป็นฟ้องซ้ำนั้น เห็นว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำเพราะคดีก่อนเป็นเรื่องฟ้องแบ่งมรดก คดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกทรัพย์ตามสัญญาแบ่งมรดกหาใช่เรื่องเดียวกันไม่

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาสืบพยานแล้ว พิพากษาใหม่

Share