แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เยาว์อายุ 14 ปี หนีออกจากบ้านมารดาไปเป็นลูกจ้างอยู่ร้านค้าทองได้ 5 วัน ก็ถูกล่อลวงไปจากร้านแล้วนำไปขายให้กับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จัดการสถานการค้าประเวณี แม้จะได้ความว่าผู้เยาว์หนีออกจากบ้านไปรับจ้างอยู่กับผู้อื่นก่อน ผู้ล่อลวงชักพาผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร ก็มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา ดังนั้น การที่จำเลยรับตัวผู้เยาว์ไว้โดยทุจริต จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคสอง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 831/2519)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของและผู้จัดการสถานการค้าประเวณีได้มีผู้ล่อลวงชักพาและพรากผู้เยาว์อายุ ๑๔ ปี ไปเสียจากมารดาเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจารแล้วนำไปขายให้กับจำเลย จำเลยรับตัวไว้โดยทุจริตเพื่อให้ค้าประเวณี หน่วงเหนี่ยวกักขังและข่มขืนกระทำชำเราผู้เยาว์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๒๗๖, ๒๘๒ วรรคสาม, ๓๑๐ , ๓๑๙ วรรคสอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๓๑๐ และมาตรา ๒๘๒ วรรคสาม, ๓๑๙ วรรคสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เยาว์ออกจากบ้านไปเป็นลูกจ้างอยู่กับผู้อื่นโดยมิได้บอกกล่าวให้มารดาทราบ ขณะเกิดเหตุจึงมิได้อยู่กับบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล การกระทำไม่เป็นความผิดฐานรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพราก พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐, ๒๗๖ และมาตรา ๒๘๒ วรรคสาม
โจทก์ฎีกา
คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยจะมีความผิดฐานรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ วรรคสองด้วยหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เยาว์อายุ ๑๔ ปี หนีออกจากบ้านมารดาไปเป็นลูกจ้างอยู่ร้านค้าทองซึ่งอยู่คนละตำบลได้ ๕ วัน ก็ถูกล่อลวงไปจากร้านแล้วนำไปขายให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จัดการสถานการค้าประเวณี จำเลยรับไว้โดยรู้และเจตนาเพื่อให้ผู้เยาว์ทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลย แม้คดีจะได้ความว่าผู้เยาว์หนีออกจากบ้านไปรับจ้างอยู่กับผู้อื่นก่อนผู้ล่อลวงชักพาผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร ก็มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๓๑/๒๕๑๘ ดังนั้น การที่จำเลยรับตัวผู้เยาว์ไว้โดยทุจริต จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๙ วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๙ วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา ๒๘๒ วรรคสามด้วย