แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่าพระครู ส. จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการโอนให้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของกฎหมายว่า รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต มิได้ล่วงรู้ถึงการที่โจทก์จดทะเบียนให้พระครู ส. ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือ พระครู ส. ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์จึงต้องรับผิดผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการทำนิติกรรมในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2183 ระหว่างพระครูสิริกิจจานุยุตกับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ หากไม่ไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่ความตายนางบุญญาณี ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2183 ตำบลกระโสบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างพระครูสิริกิจจานุยุตกับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 และคำขอที่ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2183 ตำบลกระโสบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่พระครูสิริกิจจานุยุต โดยให้พระครูสิริกิจจานุยุตถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์เพื่อจัดตั้งวัด พระครูสิริกิจจานุยุตจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 สำหรับคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างพระครูสิริกิจจานุยุตกับจำเลยที่ 2 คดีเป็นยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า โจทก์มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างพระครูสิริกิจจานุยุตกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาท การทำนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงขัดต่อหลักกฎหมายผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เห็นว่า ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่าพระครูสิริกิจจานุยุตจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการโอนให้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของกฎหมายว่า รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต มิได้ล่วงรู้ถึงการที่โจทก์จดทะเบียนให้พระครูสิริกิจจานุยุตถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือพระครูสิริกิจจานุยุตทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต ดังนั้น โจทก์จึงต้องรับผิดผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท