คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13277/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินพิพาทเคยเป็นของ จ. มาก่อน จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและถูก จ. ฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน หลังจากนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุด คำพิพากษาในคดีแพ่งย่อมมีผลผูกพันจำเลยทั้งสามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทั้งจำเลยทั้งสามเบิกความยอมรับว่า จ. เคยฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาท และยอมรับว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามและคดีถึงที่สุดแล้ว คำเบิกความของจำเลยทั้งสามเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของ จ. เมื่อ จ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงจึงขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลยทั้งสามเอง ไม่อาจรับฟังได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2), 83 จำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 317 ตำบลอ่างคีรี (มะขาม) อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 30 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา เป็นของนางจินตนา เมื่อปี 2533 จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและถูกนางจินตนาฟ้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดิน ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดแล้ว ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1305/2543 ของศาลชั้นต้น หลังจากนั้นศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 กับบริวารขัดขืนไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท ในที่สุดศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 1 มากักขังไว้จนกว่าจำเลยที่ 1 จะยอมปฏิบัติตามหมายบังคับคดี เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และบริวารยอมออกจากที่ดินพิพาท ครั้นต่อมานางจินตนาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 850,000 บาท โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวกาหลง ไปขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินพบว่า จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปปลูกพืชผลในที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์มอบอำนาจให้นางเสาวณีย์ ไปรังวัดสอบเขตที่ดินอีกครั้งหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสามไปคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ของโจทก์เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่สามารถรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทได้ ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เคยทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกรมที่ดินว่า ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาททับที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่กรมที่ดินมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่า ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่นางอรุณ ซึ่งเป็นมารดาของนางจินตนาตั้งแต่ปี 2519 โดยไม่ได้ทับที่ดินแปลงใดตามหนังสือของกรมที่ดิน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินของโจทก์และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งมีอายุความในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 หาได้มีประเด็นว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี อันจะส่งผลให้โจทก์ขาดสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 ประกอบมาตรา 83 อายุความในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสามย่อมมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) หาใช่ถือเอาระยะเวลาในการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทนับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองมาเป็นอายุความในการดำเนินคดีไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แม้ได้ความว่าจำเลยทั้งสามเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2549 เป็นต้นมา แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ยังไม่ล่วงพ้นสิบปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่พิพาทได้ หาใช่เป็นการสิ้นสิทธิฟ้องร้องตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า แม้ได้ความว่าจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่เวลาที่จำเลยทั้งสามเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจนสุดสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมที่ดินพิพาทเคยเป็นของนางจินตนามาก่อน แต่ในปี 2533 จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและถูกนางจินตนาฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน หลังจากนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาในคดีแพ่งย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยทั้งสามยังเบิกความรับว่า นางจินตนาเคยฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามออกไปจากที่ดินพิพาทและยอมรับว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุดแล้ว คำเบิกความของจำเลยทั้งสามเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางจินตนา หาใช่เป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ไม่ เมื่อนางจินตนาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในปี 2548 แล้วต่อมาในตอนปลายปี 2549 จำเลยทั้งสามเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกที่ดินพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงกันกับที่ดินที่จำเลยทั้งสามเข้าครอบครองทำประโยชน์จึงขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลยทั้งสามเองไม่อาจรับฟังได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี นั้น หนักเกินไป เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ประกอบกับจำเลยทั้งสามไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยทั้งสาม เพื่อให้จำเลยทั้งสามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมสืบไป แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสามหลาบจำ สมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share