แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 เป็นหลัก ส่วนกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับอื่น ๆ ที่ใช้กับคดีแพ่งและคดีอาญาโดยทั่วไปจะนำมาใช้ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวบัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะ ทั้งการนำมาใช้ก็เป็นการใช้โดยอนุโลมอีกด้วย เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในกรณีที่จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 11 กำหนดไว้ว่า ในคดีที่จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ โดยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การด้วย ต่างกับการขาดนัดยื่นคำให้การในคดีแพ่งทั่วไปที่เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมาย ศาลไม่ต้องมีคำสั่ง และหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรต่อไป จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 198 และมาตราต่อไปมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่สำหรับคดีนี้ เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ จึงจะนำบทบัญญัติมาตรา 198 วรรคสอง มาใช้บังคับยังมิได้
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ประกอบด้วยข้อมูลการออกแบบ สร้าง ประกอบ ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย เครื่องเติมอากาศเครื่องรีดตะกอน ระบบแยกไขมัน แบบตะกอนลอย และสารเคมีสำหรับปรับสภาพน้ำขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
คดีอยู่ในระหว่างจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การ จำเลยที่ 3 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมาย ครบกำหนดยื่นคำให้การวันที่ 29 กรกฎาคม 2557
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องในวันเดียวกัน
วันที่ 14 สิงหาคม 2557 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 3 เนื่องจากโจทก์ไม่ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพื่อให้มีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เจตนารมณ์ในการจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศซึ่งอยู่ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ปรากฏชัดว่า คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งและคดีอาญาโดยทั่วไปจึงสมควรจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขึ้นเพื่อพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะโดยวิธีพิจารณาคดีเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรมยิ่งขึ้นซึ่งในพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ได้บัญญัติวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไว้โดยเฉพาะหลายประการ โดยในมาตรา 26 บัญญัติว่า “กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม” และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ แต่ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยต้องลดน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายข้อกำหนดนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้” และเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้ออกข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 จึงแสดงว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 เป็นหลักส่วนกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับอื่น ๆ ที่ใช้กับคดีแพ่งและคดีอาญาโดยทั่วไปจะนำมาใช้ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวบัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะ ทั้งการนำมาใช้ก็เป็นการใช้โดยอนุโลมอีกด้วย เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในกรณีที่จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การมีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 11 กำหนดว่า “ถ้าจำเลย … มิได้ยื่นคำให้การ … ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยพลัน” ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 ที่บัญญัติว่า “เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ” และมาตรา 198 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ”ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ” จะเห็นได้ว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำให้การนั้น ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 บัญญัติไว้เพียงข้อเดียว ได้แก่ข้อ 11 ดังกล่าว กล่าวคือ ในคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจำเลยที่ 3 จะขาดนัดยื่นคำให้การ นอกจากจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การด้วย ต่างกับการขาดนัดยื่นคำให้การในคดีแพ่งทั่วไปที่เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมาย ศาลไม่ต้องมีคำสั่ง และหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรต่อไป จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 และมาตราต่อไปมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่สำหรับคดีนี้ เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ จึงจะนำบทบัญญัติมาตรา 198 วรรคสอง มาใช้บังคับยังมิได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำมาตรา 198 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมโดยสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาและมีคำสั่งใหม่เกี่ยวกับที่จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ