คำสั่งศาลฎีกาที่ 6830/2558

แหล่งที่มา : แผนกคดีเลือกตั้ง

ย่อสั้น

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ม. มิได้ลงพิมพ์ว่า ผู้คัดค้านมิได้ จ้าง วาน ใช้ให้ลงพิมพ์ข้อความดังกล่าว เพียงแต่ปฏิเสธว่าข้อความที่ลงพิมพ์นั้น มิได้หาเสียงให้ผู้สมัครรายใด จึงเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ ส. บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ม. กระทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยมีข้อความอันเป็นการหาเสียงเลือกตั้งดังที่ผู้ร้องกล่าวหา และเมื่อพิจารณาข้อความโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้คัดค้าน เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารอันเป็นการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ทั้งข้อความดังกล่าวยังเป็นการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้านอันส่งผลให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อให้ ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้ง คดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากรณีเป็นไปตามคำร้องของผู้ร้อง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปในวันที่ 30 มีนาคม 2557 โดยในการเลือกตั้งดังกล่าว ผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย หมายเลข 3 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 ผู้ร้องได้ประกาศผลการเลือกตั้งให้นายสมศักดิ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย หมายเลข 2 เป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย โดยผู้คัดค้านไม่ได้รับเลือกตั้ง แต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าว ผู้คัดค้านได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้นายสมาน กระทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น คือ หนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลย ปีที่ 24 ฉบับที่ 506 ประจำวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2557 หน้าที่ 11 โดยมีข้อความว่า “หน้าที่สมาชิกสภา อยากผลักดันเรื่องกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง และเสนอให้สร้างอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดใหญ่ 5 โครงการ โครงการที่ผ่านมาได้ผลและลงมือก่อสร้าง 1 โครงการที่ต้นแม่น้ำเลยงบประมาณ 200 กว่าล้านบาท และอีกโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการเวนคืนที่ดินที่อำเภอด่านซ้าย ราคาก่อสร้างประมาณ 4 – 5 ร้อยล้านบาท อยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จถึงจะเปิดประมูลก่อสร้างได้” และย่อหน้าถัดมามีข้อความว่า “หน้าที่สมาชิกสภาจังหวัด การพัฒนาประเทศ (บ้านเมือง) ทำไม่ได้เลย ถ้าไม่พัฒนาประชาธิปไตย สมาชิกสภาจังหวัดถือเป็นองค์กรสำคัญของระบบการปกครอง ในการนำเสนอปัญหาความต้องการของประชาชนไปสู่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในสมัยโลกาภิวัฒน์นี้ มติมหาชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการกำหนดนโยบายและการบริหารบ้านเมือง” ซึ่งเป็นการหาเสียงเลือกตั้งในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภาอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 123 ขอให้มีคำสั่งตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 111 และมาตรา 122 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน มีกำหนดห้าปี
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ได้ก่อ จ้างวานใช้ รู้เห็นเป็นใจ หรือสนับสนุน นายสมาน ให้ทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยลงข้อความในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ตามคำร้องของผู้ร้อง เมื่อผู้คัดค้านทราบว่ามีการลงข้อความอันเป็นมูลคดีที่มีปัญหาดังกล่าว ผู้คัดค้านได้ดำเนินการทักท้วงนายสมาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ว่าลงข้อความเกินที่แจ้งไปโดยพลการ และแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเลยให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าผู้คัดค้านไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการลงโฆษณาโดยพลการของนายสมานดังกล่าว ขอให้ยกคำร้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกว่า ผู้คัดค้านได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้นายสมาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลย กระทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยมีข้อความอันเป็นการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ โดยผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทราบว่ามีการลงข้อความดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2557 จึงได้ต่อว่านายสมานว่าลงข้อความโดยพลการ และในวันเดียวกัน เวลา 15.30 นาฬิกา ผู้คัดค้านได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเลยไว้เป็นหลักฐานว่าผู้คัดค้านไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการลงโฆษณาดังกล่าว เห็นว่า หนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลย ปีที่ 24 ฉบับที่ 506 ประจำวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2557 เอกสารหมาย รค.1 แผ่นที่ 14 มีรูปถ่ายผู้คัดค้านอยู่ในหน้าแรกส่วนบน ใต้ชื่อหนังสือพิมพ์ร่วมกับรูปถ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลยอื่นอีก 2 คน ทั้งในหน้าที่ 11 ก็มีรูปถ่ายผู้คัดค้าน ประวัติผู้คัดค้านและข้อความดังกล่าวอยู่ถึงครึ่งหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ในแนวตั้ง นอกจากนี้ยังได้ความจากนายสมาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลย ตามบันทึกคำให้การพยานต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน เอกสารหมาย รค.1 แผ่นที่ 50 ว่า หนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลย พิมพ์เผยแพร่จำนวน 1,700 ฉบับ มีสมาชิกทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชนประมาณ 300 ราย และวางจำหน่ายตามแผงหนังสือทั่วไปในเขตอำเภอเมืองเลยในราคาฉบับละ 10 บาท และฉบับที่ 506 ประจำวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2557 ออกจำหน่ายในวันที่ 18 ถึง 20 มีนาคม 2557 แต่ผู้คัดค้านเพิ่งมีหนังสือแจ้งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ตามเอกสารหมาย รค.1 แผ่นที่ 64 ว่ามีการพิมพ์ข้อความที่คลาดเคลื่อน และแจ้งความไว้เป็นหลักฐานต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2557 ตามเอกสารหมาย รค.1 แผ่นที่ 67 ว่าตนมิได้รู้เห็นเป็นใจในการโฆษณาดังกล่าว จึงผิดวิสัยที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ทั้งเคยเป็นประธานหอการค้าจังหวัดเลย จะไม่ทราบถึงการโฆษณาตนเองในการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลยในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่วางจำหน่ายแพร่หลายในจังหวัดเลยในทันทีที่มีการวางจำหน่าย แต่เพิ่งมาทราบหลังจากจำหน่าย จ่าย แจก แล้วถึง 4 วัน ประกอบกับในคอลัมน์บรรณาธิการแถลง ในหนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลยปีที่ 24 ฉบับที่ 507 ประจำวันที่ 16 ถึง 31 มีนาคม 2557 หน้าที่ 5 เอกสารหมาย รค.1 แผ่นที่ 77ลงพิมพ์ว่า “…ข้อความนอกกรอบที่พิมพ์ลงไปนั้นความจริงพิจารณาแล้วก็มิได้หาเสียงให้ใครหรือสนับสนุนผู้สมัครเบอร์ใดแม้แต่นิดเดียว คงยึดมั่นให้ความเป็นกลางสนับสนุนทุกเบอร์ ถ้าท่านได้รับการพิจารณาเลือกจากประชาชนชาวจังหวัดเลย…”จากบทบรรณาธิการดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทเลย เมืองเลย ก็มิได้ลงพิมพ์ว่า ผู้คัดค้านมิได้ จ้าง วาน ใช้ ให้ลงพิมพ์ข้อความดังกล่าว เพียงแต่ปฏิเสธว่าข้อความที่ลงพิมพ์นั้น มิได้หาเสียงให้ผู้สมัครรายใด จึงเชื่อได้ว่า ผู้คัดค้านได้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้นายสมาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลย กระทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น โดยมีข้อความอันเป็นการหาเสียงเลือกตั้งดังที่ผู้ร้องกล่าวหา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายว่า ข้อความตามคำร้องว่าผู้คัดค้าน ใช้ในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น นั้น เป็นการหาเสียงเลือกตั้งในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 123 เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อที่จะให้ผู้คัดค้านได้รับการเลือกตั้ง มีผลให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา” และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียง ข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและการดำเนินการใดๆของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ. 2551 ข้อ 5 กำหนดว่า “ในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือบุคคลผู้ช่วยในการหาเสียงเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภาตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 เช่น อำนาจในด้านนิติบัญญัติ อำนาจในการควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน การพิจารณาเลือกตั้ง แต่งตั้ง ให้คำแนะนำให้ความเห็นชอบบุคคลในองค์กรต่างๆ อำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นต้น…” แต่เมื่อพิจารณาถ้อยคำที่ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์มหาชนไทเลย เมืองเลย ปีที่ 24 ฉบับที่ 506 ประจำวันที่ 1 ถึง 15 มีนาคม 2557 หน้าที่ 11 ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารอันเป็นการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ทั้งข้อความดังกล่าวยังเป็นการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้านอันส่งผลให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อให้ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้ง คดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากรณีเป็นไปตามคำร้องของผู้ร้อง คำคัดค้านของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายสุเครื่อง ผู้คัดค้าน มีกำหนดห้าปี นับแต่วันมีคำสั่ง.

Share