คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10834/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่าง อ. กับจำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน และให้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากไม่ แม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการทำนิติกรรมอำพรางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น คู่กรณีจะต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรมคือ นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยเปิดเผย คู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับอย่างใดตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของ อ. ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงิน โดยโจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงิน แสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และ อ. ทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน และถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่าง อ. กับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง โดยจำเลยยังมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันได้
เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากกับขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินพิพาทได้ และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นโมฆะดังกล่าว ศาลฎีกาก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 ตำบลเพ็กใหญ่ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น และรับเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมทั้งส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ หากไม่ดำเนินการ ขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินและให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาพล ออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ให้แก่โจทก์แทน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับเงินจำนวน 300,000 บาท ให้ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 ตำบลเพ็กใหญ่ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น พร้อมสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 นางอัมพร ภริยาโจทก์ได้ทำสัญญากู้เงินจำนวน 300,000 บาท จากจำเลย โดยระบุในสัญญาว่าผู้กู้ได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2103 ให้เป็นประกันหนี้และให้โจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินค้ำประกันหนี้ โดยจดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงข้างต้นแก่จำเลย กับโจทก์ได้ทำสัญญาค้ำประกันนางอัมพรในการทำสัญญากู้เงินดังกล่าว และในวันดังกล่าวโจทก์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยเป็นเงิน 300,000 บาท มีกำหนด 2 ปี เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวมีการจดทะเบียนขยายระยะเวลาขายฝากออกไปอีก 5 ครั้ง ครบกำหนดครั้งสุดท้ายวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ครั้นครบกำหนดไถ่ถอน โจทก์นำเงินจำนวน 300,000 บาท ไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีเจตนาที่แท้จริงคือรับซื้อฝากที่ดินจากโจทก์มิใช่การกู้เงินนั้น ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า จำเลยมีอาชีพปล่อยเงินกู้ สำหรับเงินจำนวน 25,000 บาท เป็นเงินที่ภริยาโจทก์ฝากให้แก่จำเลยเป็นค่าดอกเบี้ยก่อนที่จะขยายระยะเวลาขายฝากครั้งที่ 5 ทั้งตามเอกสารทั้งหมดโจทก์ก็ระบุว่าเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบโอนเงินให้จำเลยเพื่อชำระดอกเบี้ยแต่ละเดือนมิได้ระบุว่าเป็นค่าตอบแทนที่จำเลยขยายเวลาไถ่ถอนให้แก่โจทก์ดังที่โจทก์ฎีกา ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเชื่อว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องการกู้เงิน ซึ่งในข้อนี้จำเลยก็เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 นางอัมพร และโจทก์มาขอกู้เงินจากจำเลย 300,000 บาท โดยจำเลยให้โจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน แต่เมื่อจำเลยพิจารณาจำนวนเงินที่จะขอกู้แล้วเห็นว่าควรจะมีหลักทรัพย์เป็นประกันหนี้ จึงให้โจทก์เป็นผู้ทำสัญญาขายฝากด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงตามสัญญากู้ดังกล่าวก็ระบุว่าผู้กู้มอบต้นฉบับที่ดินพิพาทให้เป็นประกันหนี้ และให้โจทก์เจ้าของกรรมสิทธ์ที่ดินค้ำประกันหนี้ ทั้งการขายฝากนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากตั้งแต่เมื่อทำสัญญาขายฝาก การที่จำเลยยอมรับเอาโฉนดที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันด้วยเท่ากับจำเลยยอมรับว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาจะผูกพันในเรื่องการกู้ยืมเงินระหว่างนางอัมพรกับจำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและให้โฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ หาได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาขายฝากไม่ แม้การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในการทำนิติกรรมอำพรางตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสองนั้น คู่กรณีจะต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรมคือนิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยเปิดเผยคู่กรณีไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับอย่างใดตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นนิติกรรมที่ไม่เปิดเผยเรียกว่านิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้ โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่ถูกอำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ไม่ต้องการผลบังคับจากนิติกรรมที่แสดงให้ปรากฏออกมา แม้คู่กรณีในเรื่องนิติกรรมอำพรางจะต้องมีเพียงคู่เดียวก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์เป็นสามีของนางอัมพร ผู้กู้ ทั้งยังเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้เงิน ซึ่งนางอัมพรก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โจทก์มีความประสงค์ต้องการใช้เงิน แสดงว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในเงินกู้ดังกล่าวด้วย การที่โจทก์และนางอัมพรทำนิติกรรมดังกล่าวจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันและถือได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกัน ดังนี้ แม้คู่กรณีในนิติกรรมขายฝากจะเป็นนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลย ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเป็นนิติกรรมระหว่างนางอัมพรกับจำเลย ก็ถือได้ว่าคู่กรณีในนิติกรรมทั้งสองนิติกรรมนั้นเป็นคู่กรณีเดียวกัน ฟังได้ว่านิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืม จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง โดยจำเลยยังมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินพิพาทเป็นประกันได้ และเมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีการชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากกับขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินพิพาทได้ และเมื่อการขายฝากที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างตกเป็นโมฆะดังกล่าว ศาลฎีกาก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนเสีย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 2103 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545 ทั้งนี้ ให้จำเลยยังคงมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าโจทก์จะชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยให้แก่จำเลยจนครบถ้วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share