คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกำหนดสิทธิในการออกเสียงของเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/30 บัญญัติว่า “คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้…” เมื่อปรากฏว่าในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ ทั้งลูกหนี้หรือผู้ทำแผนหรือเจ้าหนี้รายอื่นต่างมิได้โต้แย้งสิทธิในการลงคะแนนเสียงของเจ้าหนี้รายนี้แต่อย่างใด เจ้าหนี้รายนี้จึงมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้ ส่วนปัญหาว่าเจ้าหนี้รายนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นเงินจำนวนเท่าใดเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาสั่งในกระบวนการในการขอรับชำระหนี้ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ในมาตรา 90/29 และมาตรา 90/32 เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้รายนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้จำนวน 445,000,000 บาท เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้วตามมาตรา 90/32 วรรคหนึ่ง หากเจ้าหนี้ประสงค์จะโต้แย้งคัดค้านต้องดำเนินการตามมาตรา 90/32 วรรคสาม จะยกปัญหาว่าเจ้าหนี้รายนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้น้อยกว่าจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งมาโต้แย้งคัดค้านในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนหาได้ไม่
การที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 แล้ว ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามาใช้ดุลพินิจอันเป็นบทบาทในทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยและให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบเนื้อหาของแผนตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนด้วย และที่มาตรา 90/42 บัญญัติว่า “ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย…” ไม่ได้หมายความเพียงว่าให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย และตามมาตรา 90/42 (2) ที่กำหนดว่าแผนจะต้องมีรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของสินทรัพย์นั้นย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่ด้วย เมื่อในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้ได้กล่าวถึงสิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับเงินค่าเสียหายในคดีของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 2946/2550 ไว้จากบุคคลภายนอก จำนวนเงินที่ลูกหนี้จะได้รับในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีของศาลแพ่งดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ประการหนึ่ง แม้เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีเงื่อนไขและไม่แน่นอน แต่ก็ต้องนำมากำหนดไว้ในแผนเพื่อหากว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายชนะคดีได้รับการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้วจะได้นำเงินค่าเสียหายมาจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามแผนได้ ดังนี้ การที่ผู้ทำแผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวมากำหนดไว้ในแผนและดำเนินการจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย จึงถือว่าแผนมีรายการไม่ครบถ้วน
แม้ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/42 ทวิ (3) จะบัญญัติว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ และการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ต่างกลุ่มนั้น สามารถที่จะชำระหนี้แตกต่างกันได้โดยจะต้องมีเหตุจำเป็นอันสมควรเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ เมื่อตามแผนกำหนดชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันโดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ซึ่งมีเจ้าหนี้รายที่ 14 เพียงรายเดียวและเจ้าหนี้ดังกล่าวเคยเป็นกรรมการของลูกหนี้ โดยจะชำระหนี้ค่าจ้างในการบริหารกิจการเพื่อดำเนินการติดตามสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอัตราร้อยละ 80 ของต้นเงินตามคำขอรับชำระหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่นได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น จึงเป็นกรณีแตกต่างกันเป็นอันมาก ทั้งมีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของลูกหนี้แสวงหาประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟื้นฟูกิจการในขณะที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อื่น การดำเนินการของลูกหนี้ตามแผนย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายเป็นอันมาก นอกจากนี้ในชั้นร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยระบุว่า ลูกหนี้มีสินทรัพย์รวม 4,879,222,575 บาท โดยมีหนี้สินรวม 5,831,673,100 บาท แต่เมื่อลูกหนี้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนลูกหนี้กลับแสดงว่าสินทรัพย์มีอยู่เพียง 2,352,382,015 บาท และมีหนี้สิน 6,137,606,819 บาท เช่นนี้ ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินจึงแตกต่างกันในสาระสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งที่จัดทำงบการเงินห่างกันเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งปรากฏตามแผนฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้จะทำการลดทุนโดยไม่เรียกร้องเงินค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังค้างชำระอยู่จำนวน 170,000,000 บาท อันเป็นรายได้จำนวนมาก โดยลูกหนี้อ้างว่าเพื่อลดภาระการขาดทุนสะสมมิให้นักลงทุนต้องร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิมในการรับภาระการขาดทุนสะสม แต่การที่ลูกหนี้ใช้วิธีลดทุนของกิจการในส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังมิได้ชำระค่าหุ้นไปก่อนการลดมูลค่าหุ้นทั้งหมดนั้น หาได้ทำให้ผลการขาดทุนสะสมลดลงตามหลักการที่ลูกหนี้กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อลูกหนี้มิได้บันทึกค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมค้างชำระไว้ในส่วนทุนตั้งแต่ต้น การไม่เรียกเก็บเงินค่าหุ้นค้างชำระจึงไม่ทำให้รายการทางบัญชีใดเปลี่ยนแปลงไป และการที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังค้างชำระตามกฎหมาย กลับทำให้สินทรัพย์ของลูกหนี้ลดน้อยลงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายซึ่งไม่ได้รับการบรรเทาเยียวยาความเสียหายจากการได้รับชำระหนี้ในเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นจำนวนมากดังกล่าว ดังนั้น พฤติการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นอกจากแผนจะมีรายการไม่ครบถ้วนแล้ว แผนยังมีลักษณะเป็นการให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้สินเป็นจำนวนมากโดยซ่อนเงื่อนที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ที่มีความใกล้ชิดกับลูกหนี้และส่อไปในทางที่มีพฤติการณ์ไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งให้ลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่หรือจะแก้ไขแผนอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 (2) 90/48 โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ตามมาตรา 90/46 ทวิ ได้ลงมติพิเศษยอมรับแผนและแผนที่มีการแก้ไขและที่ประชุมเจ้าหนี้ทุกกลุ่มมีจำนวนหนี้ที่ยอมรับแผนทั้งสิ้น คิดเป็นร้อยละ 51.09 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/56
เจ้าหนี้รายที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
เจ้าหนี้รายที่ 4 ยื่นคำคัดค้านขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่มีมติพิเศษยอมรับแผนและแผนที่มีการแก้ไขและห้ามมิให้นายวิรัชเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ออกเสียงลงมติในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ กับมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และแผนที่มีการแก้ไขด้วย
เจ้าหนี้รายที่ 13 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้รายที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 1 ประการแรกว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งกำหนดจำนวนหนี้ให้เจ้าหนี้รายที่ 14 มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนจำนวน 445,000,000 บาท และมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในจำนวนดังกล่าวนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการกำหนดสิทธิในการออกเสียงของเจ้าหนี้นั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/30 บัญญัติว่า “คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้…” เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 14 ทั้งลูกหนี้และผู้ทำแผนหรือเจ้าหนี้รายอื่นต่างมิได้โต้แย้งสิทธิในการลงคะแนนเสียงของเจ้าหนี้รายที่ 14 แต่อย่างใด เจ้าหนี้รายที่ 14 จึงมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้ ส่วนการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 14 ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นเงิน 445,000,000 บาท เจ้าหนี้รายที่ 1 อุทธรณ์ว่า เนื่องจากในหนังสือรับสภาพหนี้มีบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหนี้รวม 14 ราย เพราะฉะนั้นเจ้าหนี้รายที่ 14 จึงมีสิทธิเพียง 1 ใน 14 ส่วน คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นเงินเพียง 31,785,714.29 บาท นั้น เห็นว่า ในการขอฟื้นฟูกิจการกฎหมายได้กำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาในแต่ละช่วงไว้อย่างชัดเจน ปัญหาว่าเจ้าหนี้รายที่ 14 จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเท่าใดเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาสั่งในกระบวนการในการขอรับชำระหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 กำหนดวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ในมาตรา 90/29 และมาตรา 90/32 เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้รายที่ 14 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในจำนวน 445,000,000 บาท ปรากฏว่าเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนมิได้โต้แย้งคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวแต่อย่างใด
ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวนดังกล่าวตามมาตรา 90/32 วรรคหนึ่ง หากว่าเจ้าหนี้รายที่ 1 จะโต้แย้งคัดค้านก็จะต้องดำเนินการตามมาตรา 90/32 วรรคสาม คือ คัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล ภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามกระบวนพิจารณาในคำขอรับชำระหนี้ แต่ในชั้นนี้นั้นเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนซึ่งจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเหตุต่าง ๆ ที่ศาลจะนำมาพิจารณาว่า จะให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ เจ้าหนี้รายที่ 1 จะยกปัญหาว่าเจ้าหนี้รายที่ 14 มีสิทธิได้รับชำระหนี้น้อยกว่าจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งมาโต้แย้งคัดค้านในชั้นนี้หาได้ไม่ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 1 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า แผนมีรายการครบถ้วนหรือไม่ เห็นว่า การที่กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนไว้ว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 แล้ว ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามาใช้ดุลพินิจอันเป็นบทบาทในทางเศรษฐกิจเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยและให้แผนฟื้นฟูกิจการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตลอดจนประเทศชาติโดยรวม ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะตรวจสอบเนื้อหาของแผนตลอดจนความสุจริตในการจัดทำแผนด้วย และที่พระราชบัญญัติล้มะลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 บัญญัติว่า “ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย…” ไม่ได้หมายความเพียงว่าให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย และตามมาตรา 90/42 (2) ที่กำหนดว่าแผนจะต้องมีรายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในส่วนของสินทรัพย์นั้นย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้อง
ต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีอยู่ด้วย นอกจากนี้ในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็ได้กล่าวถึงสิทธิเรียกร้องในการที่จะได้รับเงินค่าเสียหายในคดีของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 2946/2550 ไว้ว่า จากผลวิกฤติเศรษฐกิจทางการเงินในปี 2540 ทำให้ปี 2548 ลูกหนี้ได้หาผู้ร่วมลงทุนเพื่อดำเนินการต่อไปตามข้อตกลงกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้แล้วเสร็จจึงได้ทำสัญญาข้อตกลงกับบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ให้บริษัทบ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าทำสัญญากับลูกหนี้แทน แต่ระหว่างการร่วมทุนดังกล่าวกลุ่มบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้กระทำละเมิดต่อบริษัทลูกหนี้โดยร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวบอกเลิกสัญญาสัมปทาน จากนั้นรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็ดำเนินการให้บริษัทบ้านปู เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ไปซึ่งสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์และสัมปทานโรงไฟฟ้าเมืองหงสาซึ่งเป็นของลูกหนี้อยู่ก่อน จำนวนเงินที่ลูกหนี้จะได้รับในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 2946/2550 นั้น จึงเป็นสาระสำคัญในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ประการหนึ่ง ซึ่งแม้เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีเงื่อนไขและไม่แน่นอน แต่ก็ต้องนำมากำหนดไว้ในแผนเพื่อหากว่าลูกหนี้เป็นฝ่ายชนะคดีได้รับการชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแล้วจะได้นำเงินค่าเสียหายมาจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามแผนได้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 90/27 การที่ผู้ทำแผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินดังกล่าวมากำหนดไว้ในแผนและดำเนินการจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายจึงถือว่าแผนมีรายการไม่ครบถ้วน ที่ศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัย ส่วนนี้ว่า การที่ลูกหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) กับพวกเป็นคดีของศาลแพ่ง หมายเลขดำที่ 2946/2550 ในมูลหนี้ละเมิด ผิดสัญญา กรณีดังกล่าวศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าลูกหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนอย่างไรหรือไม่ ลูกหนี้จึงไม่จำต้องระบุไว้ในแผนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนที่ผู้ทำแผนยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงฉบับลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ภายหลังจากที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2946/2550 ให้บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัทบ้านปู เพาเวอร์ จำกัด ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 4,000,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าขาดประโยชน์แก่ลูกหนี้ว่า หากผลคำพิพากษาอันถึงที่สุดไม่เปลี่ยนแปลงไปจากคำพิพากษาศาลแพ่ง เจ้าหนี้ทั้งหลายจะได้รับชำระหนี้เพิ่มขึ้นตามที่ผู้ทำแผนได้แถลงไว้ต่อศาลตามคำแถลงฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม 2555 นั้น ก็หาเป็นผลทำให้แผนมีรายการครบถ้วนตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 1 ประเด็นนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า แผนฟื้นฟูกิจการมีลักษณะเอื้อประโยชน์แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้บางรายอันเป็นการจัดทำแผนโดยไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิ (3) จะบัญญัติว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการและการดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ต่างกลุ่มนั้น สามารถที่จะชำระหนี้แตกต่างกันได้โดยจะต้องมีเหตุจำเป็นอันสมควรเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ เมื่อคดีนี้แผนกำหนดชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ไม่มีประกันโดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ซึ่งมีเจ้าหนี้รายที่ 14 เพียงรายเดียวและเจ้าหนี้ดังกล่าวก็เคยเป็นกรรมการของบริษัทลูกหนี้ โดยชำระหนี้ค่าจ้างในการบริหารกิจการเพื่อดำเนินการติดตามสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอัตราร้อยละ 80 ของเงินต้นตามคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งตามหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ท้ายคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 14 กำหนดว่าลูกหนี้จะชำระหนี้สินจ้าง 445,000,000 บาท ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 14 ภายในวันที่ 5 กุมพาพันธ์ 2553 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่จะมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการคดีนี้ในวันที่ 23 ธันวาคม 2553 ทั้งที่ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจะสามารถบังคับคดีเพื่อให้ได้ทรัพย์สินมาชำระหนี้เมื่อใด ส่วนการที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้ได้ทรัพย์สินมาชำระหนี้ก็ปรากฏว่าแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินอันเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนั้นต่างหาก ขณะที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันอื่นได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 4.8 เท่านั้น จึงเป็นกรณีแตกต่างกันเป็นอันมาก ทั้งมีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของลูกหนี้แสวงหาประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟื้นฟูกิจการในขณะที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อื่น การดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามแผนย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายเป็นอันมาก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานและเอกสารในสำนวนคดีนี้โดยตลอดแล้ว เห็นว่า ในชั้นร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ซึ่งร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยระบุว่า ลูกหนี้มีทรัพย์สินรวม 4,879,222,575 บาท โดยมีหนี้สินรวม 5,831,673,100 บาท แต่เมื่อลูกหนี้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนเองก็ปรากฏว่าในแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้กลับแสดงสินทรัพย์ว่ามีอยู่เพียง 2,352,382,015 บาท และมีหนี้สิน 6,137,606,819 บาท เช่นนี้ ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินจึงแตกต่างกันในสาระสำคัญเป็นอย่างมากทั้งที่จัดทำงบการเงินห่างกันเพียง 9 เดือนเศษ ส่วนที่ผู้ทำแผนอ้างว่าผู้ทำแผนได้ตัดเงินสิทธิเรียกร้องที่ให้กู้ยืมระยะยาวและลูกหนี้การค้ากิจการที่เกี่ยวข้องกันไปแล้วและสงสัยว่าจะสูญออกนั้น ผู้ทำแผนก็มิได้แสดงให้เห็นว่าเงินสิทธิเรียกร้องจำนวนที่หายไปถึงประมาณ 2,715,000,000 บาทนั้น จะไม่ได้รับชำระหนี้เลยอย่างแน่แท้เพราะเหตุใด ทั้งไม่ได้แสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่จะแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่จะรับผิดในหนี้ดังกล่าวนั้นไม่มีทรัพย์สินชำระหนี้ตลอดระยะเวลาที่จะบังคับคดีได้ตามกฎหมาย ที่สำคัญยังปรากฏในแผนฟื้นฟูกิจการว่าลูกหนี้จะทำการลดทุนโดยไม่เรียกร้องเงินค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังค้างชำระอยู่จำนวน 170,000,000 บาท อันเป็นรายได้จำนวนมากโดยลูกหนี้อ้างว่าเพื่อลดภาระการขาดทุนสะสมมิให้นักลงทุนต้องร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิมในการรับภาระการขาดทุนสะสม แต่การที่ลูกหนี้ใช้วิธีลดทุนของกิจการในส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมยังมิได้ชำระค่าหุ้นไปก่อนการลดมูลค่าหุ้นทั้งหมดนั้น หาได้ทำให้ผลการขาดทุนสะสมลดลงตามหลักการที่ลูกหนี้กล่าวอ้างมาแต่อย่างใด เพราะสินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน (ทุน = หุ้น + กำไร หรือขาดทุนสะสม) เมื่อลูกหนี้มิได้บันทึกค่าหุ้นส่วนที่ผู้ถือหุ้นเดิมค้างชำระไว้ในส่วนทุนตั้งแต่ต้น การไม่เรียกเก็บเงินค่าหุ้นค้างชำระจึงไม่ทำให้รายการทางบัญชีใดเปลี่ยนแปลงไป และการที่ลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นเดิมชำระค่าหุ้นส่วนที่ยังค้างชำระตามกฎหมาย กลับทำให้สินทรัพย์ของลูกหนี้ลดน้อยลงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายซึ่งไม่ได้รับการบรรเทาเยียวยาความเสียหายจากการได้รับชำระหนี้ในเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระเป็นจำนวนมากดังกล่าว ดังนั้น ตามพฤติการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นอกจากแผนจะมีรายการไม่ครบถ้วนแล้ว แผนยังมีลักษณะเป็นการให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้สินเป็นจำนวนมากโดยซ่อนเงื่อนที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ที่มีความใกล้ชิดกับลูกหนี้และส่อไปในทางที่มีพฤติการณ์ไม่สุจริต แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/48 วรรคสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

Share