คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 นั้น เป็นหน้าที่ของผู้ฎีกาจะไปร้องขอยังศาลอุทธรณ์เอง

ย่อยาว

จำเลยฎีกาและยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขออนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และไม่อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำร้องของจำเลยไปศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะพิจารณาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “การที่จะให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนและคำร้องของจำเลยไปยังศาลอุทธรณ์ การอนุญาตให้ฎีกาเป็นประโยชน์แก่ผู้ฎีกาเอง เป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ฎีกาจะขวนขวายไปร้องขอยังศาลอุทธรณ์ให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีในชั้นอุทธรณ์พิจารณาอนุญาตเอง”

พิพากษายืน

Share