แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.อ. ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า ผู้มีวิชาชีพ ไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่าวิชาชีพ หมายถึงอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพจึงหมายถึงผู้มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของมาตรานี้จึงหาได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการเพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 3 ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนการทำสัญญารับเหมาก่อสร้างและรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้กระทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง เพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคาร ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 83, 84, 86 และ 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ให้ประทับฟ้อง จำเลยอื่นให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 6 หลบหนี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 6
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 8
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นนี้คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 หรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2537 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านอาคารคอนกรีต 2 ชั้น 1 หลัง บนที่ดินของโจทก์ที่ 2 เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยตามสัญญารับเหมาก่อสร้าง โดยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการเพียงคนเดียวของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำการแทน จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับโจทก์ทั้งสองมาแต่ต้นตั้งแต่ก่อนทำสัญญารับเหมาก่อสร้างเข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างตลอดจนควบคุมดูแลและรับผิดชอบการก่อสร้างบ้านในฐานะเป็นเจ้าของกิจการเอง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ทำการก่อสร้างบ้านของโจทก์ทั้งสองไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งไม่ตรงตามแบบก่อสร้าง และรายการคำนวณโครงสร้าง โดยเสาที่ออกแบบเป็นเสาแบบซี 1 ขนาด 20 X 20 เซนติเมตร แต่ก่อสร้างเป็นเสาแบบซี 2 ขนาด 15 X 15 เซนติเมตร ตามแบบที่คานโค้งแต่การก่อสร้างตัดคานโค้งทิ้ง การผูกเหล็กไม่ตรงกับแบบแปลนจำนวนเหล็กเส้นที่ใช้มีจำนวนน้อยกว่าและมีขนาดเล็กกว่าที่ออกแบบไว้ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้างให้ผิดจากรายการคำนวณโครงสร้าง ทำให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่การที่ใช้เสาที่มีขนาดเล็กกว่าและใช้เหล็กเส้นน้อยกว่ารายการทำให้รับน้ำหนักได้เพียงครึ่งเดียวของรายการคำนวณโครงสร้าง การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ก่อสร้างบ้านของโจทก์ทั้งสองผิดหลักวิชาการมีผลทำให้โครงสร้างของบ้านขาดความมั่นคงแข็งแรงและอาจพังทลายลงได้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 น่าจะหมายถึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น สถาปนิก วิศวกร หรือผู้ควบคุมการก่อสร้าง (โฟร์แมน) เป็นต้น แต่จำเลยที่ 3 จบการศึกษาทางด้านการเงิน ไม่ได้เป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้าง ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่าผู้มีวิชาชีพไว้จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ หมายถึงวิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า วิชา พจนานุกรมทั้งสองฉบับให้ความหมายว่า ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน ดังนั้น คำว่า ผู้มีวิชาชีพ จึงหมายถึงผู้มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญหรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของมาตรานี้ จึงหาได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิก วิศวกร หรือโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการเพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 3 ในการรับเหมาก่อสร้างบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำการแทนจำเลยที่ 1 ตลอดมาตั้งแต่ก่อนการทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง และรับผิดชอบการก่อสร้างในฐานะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้กระทำการแก้ไขแบบแปลนการก่อสร้าง เพื่อให้การก่อสร้างเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ดังนี้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการก่อสร้างอาคารก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 มีความรู้ความชำนาญและใช้ความรู้ด้านการก่อสร้างในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน