แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยได้ความว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2548 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด มีคนร้ายเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของ ย. ผู้เสียหาย และลักสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำธนาคาร ก. ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไป แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืนซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้ จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ปัญหาดังกล่าวแม้มิได้มีฝ่ายใดฎีกาก็ตามแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีจึงฟังได้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือเมื่อระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2548 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด มีคนร้ายเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางสาวยุพา ผู้เสียหายและลักสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประชาอุทิศ ราฎร์บูรณะ ชื่อบัญชีนางสาวยุพา เลขที่บัญชี 235 – 2 – 07XXXX ราคา 20 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไป ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน นางสาวอุมาวรรณ พนักงานของธนาคารดังกล่าวเห็นจำเลยนำสมุดคู่ฝากของผู้เสียหายที่คนร้ายลักไปใช้เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งในการขอเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย 18,000 บาท ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2548 เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ทั้งนี้ จำเลยเป็นคนร้ายลักสมุดคู่ฝากของผู้เสียหายหรือมิฉะนั้น ตามวันเวลาที่เกิดเหตุลักทรัพย์ถึงวันเวลาที่จำเลยถูกจับ จำเลยรับของโจร โดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งสมุดคู่ฝากของผู้เสียหายไว้จากคนร้าย โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ และเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายในใบถอนเงินธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนประชาอุทิศ ราษฎร์บูรณะ ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2548 ในช่องเจ้าของบัญชีและในช่องผู้รับเงินรวม 2 แห่ง แล้วใช้ใบถอนเงินดังกล่าวพร้อมสมุดคู่ฝากของผู้เสียหายแสดงต่อนางสาวอุมาวรรณ เพื่อขอเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย 18,000 บาท ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย นางสาวอุมาวรรณ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้อื่น และประชาชนวันที่ 9 ตุลาคม 2548 เจ้าพนักงานยึดได้ใบถอนเงินปลอมดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 264, 265, 268, 334, 335 (1) (8), 357 ริบใบถอนเงินปลอมของกลาง และให้จำเลยคืนสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำของผู้เสียหาย หรือใช้ราคาเป็นเงิน 20 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ และข้อหาปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง, 265, 268 ประกอบ 265 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ริบใบถอนเงินปลอมของกลาง และให้จำเลยคืนสมุดคู่ฝากของผู้เสียหายหรือใช้ราคาเป็นเงิน 20 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานลักทรัพย์แล้วคงจำคุกทั้งสิ้น 1 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยได้ความว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2548 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2548 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดมีคนร้ายเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางยุพา ผู้เสียหาย และลักสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไป แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์พอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเป็นช่วงเวลาใด และจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาลักทรัพย์ตามฟ้องก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุให้ศาลเห็นว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางคืนซึ่งความจริงเหตุอาจจะเกิดในเวลากลางวันก็ได้จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน ปัญหาดังกล่าวแม้มิได้มีฝ่ายใดฎีกาก็ตาม แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีจึงฟังได้เพียงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยลักสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถาน และจำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายในใบถอนเงินเพื่อใช้ใบถอนเงินดังกล่าวขอเบิกถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย 18,000 บาท ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยเป็นไปโดยอุกอาจไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ก็มิใช่เหตุเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย อย่างไรก็ตาม ปรากฏจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าจำเลยได้คืนเงินจำนวน 18,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษในความผิดฐานลักทรัพย์จำคุกจำเลยถึง 2 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก ให้จำคุก 1 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 3 เดือนในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแล้ว เป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์