คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์มายังไม่ถึงสิบปี แต่การที่โจทก์ได้ใช้เส้นทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกสู่ซอยและถนนสาธารณะมาตั้งแต่โจทก์ยังเป็นผู้อาศัยอยู่กับเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม จนกระทั่งโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งทักท้วงและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใด เมื่อนับระยะเวลาทั้งสองตอนติดต่อกันก็เกินกว่าสิบปี เส้นทางดังกล่าว จึงตกเป็นทางภารจำยอมโดยทางอายุความได้สิทธิแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 แล้ว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 113/2504)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าตั้งบ้านเรือนอยู่ทางด้านทิศใต้ของคลองวัดอรุณ ซึ่งเป็นคลองที่ตื้นเขินใช้สัญจรไปมาไม่ได้ ด้านทิศเหนือของคลองเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๒๙๗ เดิมเป็นของผู้มีชื่อ ต่อมาตกเป็นของจำเลยที่ ๑ ก่อนตกมาเป็นของจำเลยที่ ๑ เจ้าของเดิมได้อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าและราษฎรในระแวกนั้นใช้เป็นทางเดินในที่ดินดังกล่าวออกสู่ซอยสาธารณะ โจทก์และราษฎรได้ใช้เส้นทางนี้มาเป็นเวลา ๓๐ ปีแล้ว ทางดังกล่าวจึงตกเป็นทางภารจำยอม จำเลยทั้งสามได้รับรู้ถึงทางภารจำยอมนี้และได้สร้างถนน แต่ต่อมาจำเลยทั้งสามได้ก่อกำแพงคอนกรีตทึบเป็นแนวยาวริมคลองวัดอรุณ ในส่วนที่ติดกับสะพานหน้าบ้านโจทก์ที่ ๔ และหน้าบ้านของนายบุญเยี่ยม จำเลยเว้นช่องว่างไว้ให้เพียง ๑ เมตร แทนที่จะเว้นไว้ให้เท่ากับสะพานซึ่งกว้าง ๒ เมตร และยังได้ทำประตูเหล็กปิดกั้นใส่กุญแจ เป็นเหตุให้รถยนต์เข้าออกไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการจงใจละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งห้าและชาวบ้าน จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามเปิดทางภารจำยอมขยายช่องกำแพงและประตูเหล็กให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า ๒ เมตร
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้อง เจ้าของที่ดินเดิมไม่ได้อนุญาตหรือมีเจตนาอนุญาตยกที่ดินในโฉนดให้เป็นทางสัญจร จำเลยไม่เคยปิดทางดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ดินของจำเลยไม่ตกเป็นทางภารจำยอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเปิดทางภารจำยอมตามแผนที่ท้ายฟ้อง และขยายกำแพงกับประตูเหล็กให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า ๒ เมตร
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งห้าต่างปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินด้านทิศใต้ของคลองวัดอรุณ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นพี่น้องกัน มีสะพานไม้ขนาดกว้าง ๒ เมตรเศษสองสะพานหน้าบ้านเลขที่ ๑๖๒/๒ และ ๑๖๒/๓ ของฝ่ายโจทก์ ส่วนที่หน้าบ้านโจทก์ที่ ๕ เป็นสะพานไม้ขนาดกว้าง ๑ เมตร ข้ามคลองวัดอรุณ แล้วทำทอดมาติดกับสะพานไม้หน้าบ้านเลขที่ ๑๖๒/๒ ถัดจากสะพานไม้สองสะพานแรกเป็นถนนคอนกรีตกว้างประมาณ ๓ เมตรออกไปสู่ซอยอนันตภูมิและถนนอิสรภาพ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดสรรที่ดินสร้างอาคารและอาคารพาณิชย์จำหน่าย ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านศิวาลัย” จำเลยที่ ๑ สร้างถนนคอนกรีตใช้เป็นทางสัญจรภายในหมู่บ้านทับแนวทางตามเส้นทางเดิม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ กับพวกสร้างกำแพงคอนกรีตเลียบริมคลองวัดอรุณในเขตที่ดินของจำเลยที่ ๑ และทำประตูเหล็กกว้าง ๑ เมตร ปิดกั้นตรงปลายถนนซึ่งเชื่อมต่อกับสะพานไม้เดิม ซึ่งโจทก์ทั้งห้ากับราษฎรอื่นใช้เป็นทางสัญจรเชื่อมกับถนนคอนกรีตดังกล่าวทั้งสองสะพาน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าและราษฎรอื่นไม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดในบ้านและเดินผ่านเข้าออกได้โดยปกติสุข และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า แม้โจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสามายทรัพย์มาไม่ถึงสิบปี แต่การที่โจทก์ทั้งห้าได้ใช้เส้นทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกสู่ซอยอนันตภูมิและถนนอิสรภาพมาตั้งแต่ยังอาศัยอยู่กับนางสาวกิมฮวย นายเสนาะและนางสมถวิลมาจนกระทั่งโจทก์ทั้งห้าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวข้างต้นโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งทักท้วง และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใด เมื่อนับระยะเวลาทั้งสองตอนติดต่อกันเกินกว่าสิบปี เส้นทางพิพาทดังกล่าวจึงเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิแก่โจทก์ทั้งห้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๐๑ แล้ว ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓/๒๕๐๔
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share