แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่าผู้มีส่วนได้เสียในมาตรา 1713 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในทางพินัยกรรมของผู้ตายโดยตรง พ. เป็นทายาทโดยธรรมของ ท. และ พ. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้โจทก์ เมื่อ พ. ตายไปแล้วโจทก์ก็มีสิทธิร้องขอให้ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ได้ แต่การที่ศาลจะตั้งใครนั้นต้องคำนึงถึงวรรค 5 แห่งมาตรานี้
ย่อยาว
โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของหม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ ซึ่งถึงชีพิตักษัย เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๑๐ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดตามพินัยกรรมแต่ผู้เดียว ขณะที่หม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์มีชีวิตอยู่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมาน ตามคำสั่งของศาลแพ่ง หม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ ได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกทั้งหมดของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมาน ให้แก่ทายาททุกคนเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ ๑ ตำบลบางขุนพรหม มีชื่อนายประทีป เดชอุดม และหม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ ผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมาน ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันอย่างคนละครึ่ง ที่ดินส่วนของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมาน ซึ่งมีชื่อหม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ ผู้จัดการมรดกนั้น หม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ผู้เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกแต่ผู้เดียว ได้ครอบครองที่ดินมา ๑๔ ปีเศษแล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนขอรับมรดกเท่านั้น เมื่อหม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ถึงชีพิตักษัย ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้โจทก์แต่ผู้เดียวโจทก์ไปขอรับมรดก เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมจดทะเบียนให้ เพราะหม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมานยังไม่เสร็จ เมื่อโจทก์จะขอรับทรัพย์มรดกของหม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ตามพินัยกรรม ก็ต้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมานก่อน จึงขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมานต่อไป
พันตำรวจโทหม่อมราชวงศ์ดิลกลาภ ทวีวงศ์ จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของหม่อมเจ้าหญิงทั้งสองนั้น โดยพระบิดาเป็นพระญาติร่วมพระบิดากับหม่อมเจ้าหญิงทั้งสอง หม่อมเจ้าหญิงทั้งสองไม่มีสามีและบุตรธิดา ไม่มีพระญาติร่วมบิดามารดา พระบิดาของจำเลยก็ถึงชีพิตักษัยไปก่อนแล้ว ทรัพย์มรดกของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมาน ซึ่งอยู่ในการจัดการของหม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ ที่ยังจัดการไม่เสร็จคือที่ดินโฉนดที่ ๑ ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์มีส่วนได้รับมรดกเพียง ๑ ใน ๗ ส่วน นอกนั้นตกเป็นของทายาทอื่น ทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างจัดการมรดก ไม่มีผลให้หม่อมเจ้าหญิงพาณีอนงค์ มีกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว จำเลยก็เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดก ในที่ดินแปลงนี้ด้วย โจทก์มิได้เป็นทายาทโดยธรรมของหม่อมเจ้าหญิงทั้งสองนั้น พินัยกรรมที่โจทก์อ้างก็ไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่มีฐานะเป็นทายาทที่จะได้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้น ไม่สมควรจะเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ แล้วตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นทายาทของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมาน ส่วนจำเลยเป็นทายาท และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา ๑๗๑๘ และเห็นสมควรแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมาน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คำว่าผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา ๑๗๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาจำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางมรดกหรือในทางพินัยกรรมของผู้มรณะโดยตรง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ใครก็ตามที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกเช่นโจทก์คดีนี้ก็ชอบที่จะขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมเจ้าหญิงทราบศิริมานได้ แต่การที่ศาลจะตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกนั้นต้องคำนึงถึง มาตรา ๑๗๑๓ วรรค ๕ ศาลจึงควรตั้งให้ใกล้เคียงที่สุดกับเจตนาของเจ้ามรดก ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นสมควรตั้งจำเลยนั้นเป็นการสมควรและเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน