คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคารโจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากจำเลย จำเลยรับหมาย (คำสั่ง) เรียกแล้วไม่ส่งศาล ภายในกำหนดเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งไม่แสดงเหตุที่ไม่ส่ง ย่อมถือได้ว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงนามและประทับตราของโจทก์ จำเลยได้ยอมรับแล้วตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 ถือได้ว่า หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบแล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 433,162 บาท 74 สตางค์พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้จำนองแก่โจทก์ในต้นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินไถ่ถอนจำนอง 375,306 บาท 37 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาว่า หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบ โดยอ้างว่าเมื่อเอกสารตัวจริง (ต้นฉบับ) หายไปสำเนาหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองท้ายฟ้องมีลายเซ็นชื่อของนายดำรงค์ กฤษณามระ แต่ไม่ประทับตราของบริษัทโจทก์ กรณีเช่นนี้โจทก์จะนำสืบเป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ต้องรับฟังหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ประทับตราของบริษัทโจทก์ โจทก์ยังไม่มีสิทธิบังคับจำนอง เห็นว่ากรณีต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองอยู่ที่จำเลยหายไป โจทก์ย่อมนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นได้ประทับตราของบริษัทโจทก์แล้วได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) และไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94 อย่างไรก็ตามเมื่อขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากจำเลย จำเลยรับหมายเรียกแล้วไม่ส่งศาลภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ทั้งไม่แสดงเหตุที่ไม่ส่ง ย่อมถือได้ว่าข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าต้นฉบับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง นายดำรงค์ กฤษณามระกรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงนามและประทับตรของโจทก์ จำเลยได้ยอมรับแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 ถือได้ว่ามีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ชอบแล้วตามที่โจทก์กล่าวแก้ฎีกามา”

พิพากษายืน

Share